บริจาคไต บุญใหญ่ทำได้ทุกคน

ข้อมูลปี 2551 พบว่าคนไทยกว่า 17 ล้านคน หรือประมาณ 16% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ป่วยเป็น “โรคไตวายเรื้อรัง” และตัวเลขนี้คาดว่า มีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งหมดกว่า 31,490 คนในประเทศไทย และในจำนวนนี้มีประมาณ 3,000 คนแจ้งความจำนงขอเปลี่ยนถ่ายไต แต่จำนวนการเปลี่ยนถ่ายไตที่ผ่านมามีเพียง 300 – 400 คนต่อปี หรือเพียง 10% ของผู้แจ้งความจำนง

พญ.ธนันดา ตระการวนิช หัวหน้าหน่วยไต วชิรพยาบาล (หรือโรงพยาบาลวชิระ) กล่าวว่า จะมีการจัดงานวันไตโลก ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม โดยรณรงค์กระตุ้นให้มีผู้แสดงความจำนงบริจาคไตมากขึ้น เพราะแม้ในบางประเทศกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนสามารถบริจาคไตให้กับเพื่อนได้ โดยมีการตรวจสอบ แต่ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด

ตามกฎหมายประเทศไทย การบริจาคไต กำหนดให้มีการบริจาคได้เพียงระหว่างญาติ หรือสามี-ภรรยาเท่านั้น เพื่อป้องกันการค้าอวัยวะ ซึ่งการบริจาคระหว่างญาติหรือสามีภรรยาก็มีข้อจำกัดอีก เช่น ผู้รอรับการบริจาคไตที่มีเลือดกรุ๊ปโอ ก็ต้องได้ไตจากผู้บริจาคที่เป็นกรุ๊ปโอเหมือนกัน ซึ่งหากญาติหรือสามีภรรยามีเลือดคนละกรุ๊ปก็จะไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายไตได้

ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก มีขนาดเท่ากำมือ อยู่ในช่องท้องด้านหลัง ไตมีหน้าที่หลักในการกรองของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากระบบเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต และสร้างฮอร์โมนช่วยผลิตเม็ดโลหิตแดง นอกจากนี้ยังรักษาความแข็งแรงของกระดูกในร่างกายไว้

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไต คือโรคเบาหวานและความดัน ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่วิถีชีวิตโดยเฉพาะคนในเมือง ที่บริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษเป็นกิจวัตร หรือ ไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่มีไขมันและน้ำตาลสูง ในขณะที่การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ เคร่งเครียดขึ้น และมีเวลาน้อยลงหรือไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) ไปแล้ว

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กินยาเป็นประจำ มีพันธุกรรมที่เป็นโรคไต เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคเก๊าต์ (Gout) ควรจะดูแลตัวเองเป็นพิเศษ โรคไตเป็นปัญหาใหญ่ที่มิใช่ระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากอัตราความชุกของโรคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของการสาธารณสุขทั่วโลก

โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease: CKD) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมสมรรถนะของไต โดยมีระยะเวลาการดำเนินโรคเป็นเดือนหรือเป็นปีๆ อาการของโรคคือ สุขภาพโดยรวมแย่ลง อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร หากไม่ป้องกัน ก็อาจสายเกินแก้ เพราะผู้ป่วยบางราย ไตวายไปแล้วข้างหนึ่งก็อาจยังไม่แสดงอาการ

บ่อยครั้งที่โรคไตได้รับการวินิจฉัยจากการคัดกรอง (Screen) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ที่มีผลเลือดจากห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ (Laboratory) การที่เข้าข่ายโรคไต โรคไตวายเรื้อรังนำไปสู่โรคแทรกซ้อน เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคโลหิตจาง และโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ขอเชิญผู้สนใจ เข้าร่วมงานได้ในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2555 ณ ลานโปรโมชั่น รามาฮอลล์ ชั้น 1 ด้านในหน้าห้างโตคิว ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. โดยในงานนี้จะมีการตรวจโรคไตฟรี ด้วยการเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ ซึ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชนในการจัดงานทุกครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. มหากุศล...ต่อชีวิต “บริจาคไต” ทำบุญครั้งสุดท้าย http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000026794 [2012, March 2].
  2. Chronic kidney disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_kidney_disease [2012, March 2].
  3. เชิญชวนร่วมงานวันไตโลก http://kidneythai.org/ [2012, March 2].