น้ำมันหอมระเหย (Essential oil/Volatile oil/Ethereal oil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำมันหอมระเหย(Essential oil) เป็นสารประกอบที่มีสถานะเป็น ของเหลว ใส ไม่ละลายน้ำ ปกติจะระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง และไม่มีคราบตกค้างหลงเหลือเหมือนกับไขมัน

น้ำมันหอมระเหยสามารถสกัดได้จากส่วนต่างๆของพืชโดยใช้ไอน้ำ หรือใช้การบีบอัด หรือใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสม อุตสาหกรรมด้านน้ำหอม เครื่องสำอาง การผลิตสบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านเรือน หรือแม้แต่อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ ก็มีโอกาสใช้น้ำมันหอมระเหยมาเป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ น้ำมันหอมระเหยถูกนำมาใช้ในสถานบริการต่างๆไม่ว่าจะเป็น สปา โรงแรม รีสอร์ท ในฐานะสุคนธบำบัดหรือการบำบัดรักษาด้วยกลิ่นหอม(Aromatherapy) ซึ่งมุ่งเน้นทำให้อารมณ์ผ่อนคลายและเกิดความรู้สึกมีความสุข

เราสามารถพบเห็นการใช้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของน้ำมันหอมระเหยตามสถานพยาบาลการแพทย์ทางเลือก ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ

อย่างไรก็ตามน้ำมันหอมระเหยยังมีความแตกต่างกัน ในเรื่ององค์ประกอบทางเคมี ในธรรมชาติของการออกฤทธิ์ กลิ่น ความเป็นพิษ ฯลฯ ทำให้เกิดคุณประโยชน์และผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคได้ต่างกัน การที่จะเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดใดควรศึกษาข้อเท็จจริงและใช้วิจารณญาณมาประกอบกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละตัวบุคคล

น้ำมันหอมระเหยที่มีใช้ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

น้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยที่พบเห็นในปัจจุบันที่สกัดได้จากส่วนต่างๆ ของพืชมีดังนี้ เช่น

  • สกัดได้จากเปลือกไม้ เช่น Cassia, Cinnamon, Sassafras
  • สกัดได้จากดอก เช่น Cannabis,Chamomile, Clary sage, Clove, Hops Hyssop, Jasmine, Laveder, Manuka, Marjoram, Orange, Pelargonium Plumeria, Rose, Ylang-ylang
  • สกัดได้จากใบ เช่น Basil, Bay leaf, Buchu, Cinnamon, Common sage Eucalyptus, Guava, Lemon grass, Melaleuca, Oregano, Patchouli Peppermint, Pine, Rosemary, Spearmint, Tea tree, Thyme, Tsuga Wintergreen
  • สกัดได้จากเปลือกของผล เช่น Bergamot, Grapefruit, Lemon, Lime, Orange Tangerine
  • สกัดได้จากเหง้า เช่น Galangal, Ginger
  • สกัดได้จากราก เช่น Valerian
  • สกัดได้จากเมล็ด เช่น Anise, Buchu, Celery, Cumin, Flax, Nutmeg oil
  • สกัดได้จากเนื้อไม้ เช่น Agarwood, Camphor, Cedar, Rosewood, Sandalwood

ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยมีอะไรบ้าง?

สามารถจำแนกประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้ดังนี้ เช่น

1. ประโยชน์ในลักษณะของยารักษาโรค น้ำมันหอมระเหยหลายตัวที่นักวิทยาศาสตร์ พบว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรค เช่น

  • ไธมอล(Thymol) เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย สามารถใช้ เพียงลำพัง หรือจะผสมร่วมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เช่นเดียวกัน อาทิ คาร์วาครอล(Carvacrol)
  • ใช้ในลักษณะรับประทานด้วยมีฤทธิ์เผ็ดร้อน ช่วยขับลมในระบบทางเดินทางอาหาร ทำให้มีอาการเรอออกมา กระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารให้ผ่อนคลายและ ลดอาการปวดเกร็งของช่องท้อง ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยในกลุ่มนี้ ได้แก่ น้ำมันยูคาลิปตัส(Eucalyptus oil)
  • ใช้บำบัดอาการปวดกล้ามเนื้อด้วยการกระตุ้นให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังมีการขยายตัว ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นในระดับหนึ่ง
  • ใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ไอ
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ เช่น น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากพืชจำพวกสน(Juniper)
  • ช่วยให้นอนหลับ เช่น Lavender , Chamomile ถูกนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับอยู่เป็นประจำ
  • บรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดด้วยกลิ่นของ Ylang Ylang และ Frankincense
  • สนับสนุนผู้ที่อยากลดน้ำหนักโดยการควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด เช่น น้ำมันหอมระเหยประเภท Grapefruit, Cinnamon และ Ginger
  • ใช้บำบัดอาการ เมารถ-เมาเรือ อย่างเช่น Peppermint
  • ลดรอยเหี่ยวย่น เช่น Patchouli, Lavender และ Sage ด้วยน้ำมันหอมระเหยกลุ่มนี้ มีคุณสมบัติเร่งกระบวนการสมานผิวของร่างกาย

2. สุคนธบำบัดหรือการรักษาด้วยกลิ่นหอม(Aromatherapy) จากน้ำมันหอมระเหย ก่อให้เกิดประโยชน์ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย สามารถพบเห็นการใช้น้ำมันหอมระเหย ในลักษณะนี้ได้ตามสถานพยาบาลที่เป็นการแพทย์ทางเลือก สปา รีสอร์ทต่างๆ

3. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง หรือยาไล่แมลงรำคาญ แต่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อมนุษย์ และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจกล่าวว่าน้ำมันหอมระเหยเป็นยาไล่แมลงที่เป็นมิตรกับ ธรรมชาติ(Green pesticides) ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยกลุ่มนี้ ได้แก่ น้ำมันกุหลาบ น้ำมันตะไคร้หอม ลาเวนเดอร์ ไธม์ เปปเปอร์มินต์ และยูคาลิปตัส

*หมายเหตุ: ควรใช้วิจารณญาณพิจารณาคุณประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยมีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงปัจจัยของความเข้มข้นที่เหมาะสม ตลอดจนกระทั่งปัจจัยด้านความบริสุทธิ์และสิ่งปนเปื้อนมาประกอบกัน

อันตรายจากน้ำมันหอมระเหยมีอะไรบ้าง?

อันตรายจากน้ำมันหอมระเหยมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเข้มข้น ความบริสุทธิ์ หรือเกิดจากโครงสร้างเคมีที่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายมนุษย์ นักวิชาการจะแนะนำไม่ให้ใช้น้ำมันหอมระเหยประเภทความเข้มข้นสูงทาผิวหนังหรือนวดร่างกายโดยตรง ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างรุนแรง

กรณีที่มีการสะสมน้ำมันหอมระเหยเข้าร่างกาย สามารถก่อให้เกิดพิษต่อตับ หรือน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากเปลือกผิวของพืชตระกูลส้ม สามารถกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหอมระเหย ผู้ผลิตจะมีเอกสารด้านความปลอดภัยของน้ำมันหอมระเหยแต่ละตัว ผู้บริโภคต้องศึกษาและทำความเข้าใจเมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำมันหอมระเหยดังกล่าว เช่น

  • การติดไฟ: น้ำมันหอมระเหยสามารถติดไฟได้ด้วยมีจุดวาบไฟต่ำ เช่น Tea tree Lavender และ Citrus oil มีจุดวาบไฟเพียง 50–60 องศาเซลเซียส (Celsius) จึงควรหลีกเลี่ยงการวางน้ำมันหอมระเหยใกล้บริเวณที่มีเปลวไฟหรือความร้อน
  • เป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหย ด้วยข้อมูลความปลอดภัยการใช้น้ำมันหอมระเหยกับสตรีมีครรภ์ยังมีน้อย ซึ่งอาการพิษเบื้องต้นที่อาจพบเห็น เช่น ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และ/หรือทางเดินอาหาร และอาเจียน
  • น้ำมันหอมระเหยอาจเป็นพิษกับสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข จึงควรเก็บน้ำมันหอมระเหยให้ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
  • มีฤทธิ์คล้ายเป็นฮอร์โมนเพศหญิง หรือ ที่เรียกว่า Estrogenic effect โดยทำให้เด็กชายที่ได้รับหรือมีการสะสมน้ำมันหอมระเหยอย่างเช่น Tea tree และLavender มีหน้าอก/เต้านมโตขึ้น

ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหยอย่างปลอดภัยได้อย่างไร?

มีแนวทางการใช้น้ำมันหอมระเหยอย่างปลอดภัยดังนี้ เช่น

  • อ่านและทำความเข้าใจกับเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยก่อนนำมาใช้งาน
  • ใช้น้ำมันหอมระเหยตามสัดส่วนที่เหมาะสมตรงตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับ การใช้น้ำมันหอมระเหย มากเกินเหตุ เช่น ทาผิวหนังเป็นปริมาณมากๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในภายหลัง
  • ห้ามสูดดมหรือทาผิวหนังด้วยน้ำมันหอมระเหยที่เข้มข้น ควรใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอม ระเหยที่เจือจางโดยผ่านกระบวนการผลิตหรือการแปรรูปมาเรียบร้อยแล้ว
  • ห้ามดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยเข้มข้นโดยตรงเพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองที่อาจจะเกิดขึ้นกับจมูก การทดสอบกลิ่นสามารถใช้มือโบกไปมา 3–4 รอบบริเวณ ปากภาชนะบรรจุน้ำมันหอมระเหยแล้วคอยสูดดมเพียงเบาๆ ก็สามารถสัมผัสรับรู้ถึง กลิ่นน้ำมันหอมระเหยได้แล้ว
  • ใช้น้ำมันหอมระเหยตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ เช่น ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยที่ใช้กลิ่นเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายมาทาถูนวดผิวหนัง หรือนำน้ำมันหอมระเหยที่ใช้สำหรับทาถูนวดร่างกายมาสูดดม
  • ห้ามรับประทานน้ำมันหอมระเหยสกัด น้ำมันหอมระเหยส่วนมากถูกนำมาใช้กับร่างกายเพียงภายนอกเท่านั้น ทั่วไปการใช้บริโภคจะเป็นลักษณะของน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในพืชที่ใช้ปรุงอาหารอยู่แล้ว เช่น มะนาว มะกรูด ตะไคร้
  • ห้ามนำตะไคร้หอมมาปรุงอาหาร เราใช้น้ำมันตะไคร้หอมเพื่อ ไล่แมลง เช่น ยุงรำคาญ
  • อย่าเชื่อสรรพคุณที่ระบุบนเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็น องค์ประกอบ ร่างกายของผู้บริโภคแต่ละคนมี ความไว หรืออาการแพ้ น้ำมันหอมระเหยได้แตกต่างกัน การทดสอบง่ายๆว่าตนเองแพ้น้ำมันหอมระเหยชนิดใดหรือไม่นั้น อาจใช้น้ำมันหอมระเหยเพียงเล็กน้อยแตะบนผิวหนัง อย่างเช่น ฝ่ามือ หรือข้อพับ หากไม่พบว่าเกิดอาการแพ้อย่างเช่น ผื่นคัน ลมพิษ ก็สามารถประกันความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
  • ไม่ใช้น้ำมันหอมระเหยที่หมดอายุแล้ว ด้วยการเก็บไว้นานอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันหอมระเหยกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้น้ำมันหอมระเหยสูญเสียคุณสมบัติตามธรรมชาติของตัวเองไป
  • ห้ามทาน้ำมันหอมระเหยบนผิวหนังที่มีบาดแผล หรือมีการอักเสบ อยู่แล้วด้วยจะ ทำให้มีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และเกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายตามมา
  • ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยกับเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งของแพทย์
  • เก็บน้ำมันหอมระเหยในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามวางทิ้งไว้ใกล้แหล่งที่มีความร้อนหรือเปลวไฟ ห้ามเก็บไว้ในรถยนต์
  • หยุดใช้ เมื่อพบว่าร่างกายมีอาการแพ้น้ำมันหอมระเหย เช่นผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันหอมระเหยสำหรับทาถูนวดตามผิวหนังบางตัว หากใช้ไประยะหนึ่งแล้วทำให้มีอาการผิว ลอก หรือมีผื่นแดง เกิดขึ้น ต้องหยุดและหลีกเลี่ยงการใช้ทันที ไม่ต้องเสียดาย
  • ห้ามทิ้งน้ำมันหอมระเหยลงพื้นดิน หรือเทลงแม่น้ำลำคลอง ด้วยจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Essential_oil [2018,June30]
  2. https://www.naturalfoodseries.com/30-essential-oil-benefits-uses/ [2018,June30]