น้ำมันมะกอกหยอดหู (Olive oil ear drop)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำมันมะกอก (Olive oil) เป็นสารประเภทน้ำมันจากธรรมชาติและเป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 4,000 ปี องค์ประกอบหลักในน้ำมันมะกอกจะเป็นไขมันชนิดไขมันอิ่มตัวประมาณ 14% และไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 86% ประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้นอกจากการปรุงอาหารแล้วยังใช้ในวงการเครื่องสำอางเช่น ทำสบู่ เป็นเชื้อเพลิงเพื่อจุดตะเกียง และใช้ในอุตสาหกรรมยา

ทางคลินิกนำน้ำมันมะกอกมาใช้เป็นยาหยอดหู (Olive oil ear drop) เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดหูเนื่องจากเกิดการอักเสบติดเชื้อ/หูติดเชื้อ รวมถึงช่วยหล่อลื่นทำให้ขี้หูหลุดออกมาได้ง่าย ทางปฏิบัติอาจมีการเติมน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นผสมกับน้ำมันมะกอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาอีกด้วยอย่างเช่น น้ำมันกานพลู (Clove oil) น้ำมันสะระแหน่ (Pepermint oil) และน้ำมันจากต้นทีทรี (Tea tree oil) เป็นต้น

มีหลักปฏิบัติอยู่บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนใช้น้ำมันมะกอกหยอดหูรวมถึงข้อจำกัด ข้อห้ามบางเรื่องที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ได้หากใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะกอกหยอดหูอย่างขาดความระมัดระวังอาทิ

  • กรณีที่ผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ สูญเสียการได้ยิน มีการติดเชื้อในหูบ่อยหลายครั้ง หากใช้น้ำมันมะกอกหยอดหูโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้หูเกิดความเสียหายมากขึ้นหรือมีอาการรุนแรงจนก่อให้เกิดปัญหาต่อการรักษา
  • ปกติแพทย์จะแนะนำให้อุ่นน้ำมันมะกอกก่อนหยอดหูเพื่อให้น้ำมันมะกอกเหลวจนกระจายตัวได้ดี กรณีที่ผู้บริโภคอุ่นน้ำมันมะกอกผิดพลาดจนทำให้อุณหภูมิสูงเกินไปแล้วนำไปหยอดหูก็สามารถสร้างความเสียหายต่อแก้วหูได้
  • การใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆร่วมเป็นตัวยากับน้ำมันมะกอกในการใช้เป็นยาหยอดหูจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่คั่งค้างในรูหูได้มากขึ้นแต่ต้องเป็นการใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยอีกหลายชนิดนอกจากที่กล่าวในตอนต้นที่สามารถนำมาร่วมหยอดหูกับน้ำมันมะกอกได้อาทิ Garlic oil, Eucalyptus oil, Lavender oil, Oregano oil และ St. John’s wort
  • การดึงใบหูไปข้างหลังแล้วตะแคงศีรษะ เอียงหูขึ้นเพดานก่อนการหยอดหูด้วยน้ำมันมะกอก จะช่วยทำให้น้ำมันมะกอกกระจายเข้าในรูหูได้เป็นแนวตรงและทั่วถึง และควรทิ้งช่วงเวลารอไว้สักครู่เพื่อให้น้ำมันมะกอกทำหน้าที่หล่อลื่นทำให้ขี้หูนิ่มลง จากนั้นจึงล้าง/เช็ดเอาน้ำมันมะกอกและขี้หูออกมาโดยทำตามวิธีที่แพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • สาเหตุหลายประการที่ทำให้มีอาการอักเสบของหูรวมถึงการได้ยินไม่ชัดเจนเช่น มีภาวะไซนัสอักเสบ มีพยาธิสภาพของการได้ยินในหูชั้นใน หรือป่วยด้วยอาการ Meinere’s disease (โรคหูชั้นในที่ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ) มีเนื้องอกเส้นประสาทหู (Acoustic neuroma) มีการติดเชื้อราในหู ซึ่งก็ควรต้องให้แพทย์รักษาที่ต้นเหตุจึงจะทำให้อาการในช่องหูดีขึ้น ดังนั้นเมื่อมีอาการทางหู ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุจากแพทย์หูคอจมูกก่อน ไม่ควรซื้อยาน้ำมันมะกอกมาหยอดหูเอง

นอกจากการใช้น้ำมันมะกอกหยอดหูแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อช่วยละลายเมือก/สารคัดหลั่งที่เกิดจากการอักเสบของจมูกและโพรงไซนัส ซึ่งเมือกดังกล่าวจะลุกลามมาทางท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ที่ต่อระหว่างลำคอถึงรูหู จนทำให้เกิดหูอื้อจากมีการคั่ง/อุดตันของเมือก/สารคัดหลั่งในหู จนเป็นที่มาของหูอักเสบ/หูติดเชื้อ และในการรักษาหูอักเสบ แพทย์อาจแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความดันในรูหูและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น โดยให้นอนยกศีรษะให้สูงขึ้นเล็กน้อย รวมถึงการอาบน้ำอุ่นหรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น (บิดให้แห้ง) ปิดบริเวณหูจะช่วยให้เมือกหรือสารคัดหลั่งในรูหูไหลเวียนออกไปได้ดีขึ้น

ประการสุดท้าย การใช้ยาต่างๆไม่ว่าจะเป็นยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาลดน้ำมูกชนิดต่างๆ (Decongestants) รวมถึงยาน้ำมันมะกอกหยอดหู ควรจะต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาเหล่านี้จากแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มาใช้เอง

และผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหาน้ำมันมะกอกหยอดหูมาใช้ด้วยตนเอง เพราะนอกจากอาการอักเสบของหูจะไม่ดีขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการของหูแย่ลงจนทำให้มีปัญหาต่อการรักษาตามมาที่ต้องซับซ้อนมากขึ้น

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

น้ำมันมะกอกหยอดหู

ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ลดอาการระคายเคืองและอาการปวดของหูชั้นนอกและของหูชั้นใน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู)
  • ช่วยทำให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เปิดโล่งจึงทำให้ลดภาวะอักเสบของหูลงได้ระดับหนึ่ง
  • ลดภาวะก่อตัวของขี้หูซึ่งทำให้อาการอักเสบของหูรุนแรงขึ้น
  • บางสูตรตำรับยานี้มีการผสมน้ำมันหอมระเหยรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งสารดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายจากการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆภายในรูหู

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาน้ำมันมะกอกคือ น้ำมันมะกอกจะช่วยหล่อลื่นเนื้อเยื่อต่างๆในรูหู ช่วยลดอาการระคายเคืองและอาการปวดอันเนื่องจากภาวะอักเสบของหู อีกทั้งทำให้การสะสมของขี้หูน้อยลง รวมถึงช่วยทำให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เปิดโล่งขึ้น ด้วยกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นน้ำมันมะกอก 100% บรรจุขวดขนาด 10 มิลลิลิตร

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป:

  • อุ่นยาน้ำมันมะกอกเล็กน้อยเพื่อให้ตัวยาเหลวจนหยอดได้ จากนั้นหยอดยาน้ำมันมะกอก 2 - 3 หยดลงในรูหู นวดคลึงรอบรูหูเบาๆเพื่อให้น้ำมันมะกอกในหูกระจายตัวได้ดีขึ้น
  • เอียงตะแคงหูข้างที่หยอดยาน้ำมันมะกอกในลักษณะหงายหูขึ้นเพดานเป็นเวลาประมาณ 2 นาทีขึ้นไป จากนั้นใช้ไม้พันสำลีเช็ดน้ำมันมะกอกออกจากรูหูด้วยการเช็ดเบาๆ
  • ความถี่ของการหยอดยาน้ำมันมะกอกคือ 2 ครั้ง/วัน อาจใช้ติดต่อได้ถึง 7 วันหรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • อนึ่งการใช้ยานี้ในประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องอุ่นน้ำมันมะกอกก่อนหยอดหู

ข. เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: การหยอดหูด้วยยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีลงมาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัช กรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาน้ำมันมะกอกหยอดหู ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาน้ำมันมะกอกหยอดหูอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูสามารถใช้เมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรใช้ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูตามคำสั่งแพทย์

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น มีอาการหูอื้อหรือรู้สึกเหนอะหนะในหู

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันมะกอกหยอดหูอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
  • ห้ามใช้รักษาการติดเชื้อ/การอักเสบในหู/หูติดเชื้อโดยมิได้ผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามรับประทานหรือให้ยานี้เข้าตา
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
  • หากใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะกอกหยอดหูแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หากมีอาการแพ้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก ผื่นขึ้นเต็มตัวหรือใบหน้าบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมน้ำมันมะกอกหยอดหูด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ผลิตภัณฑ์ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูเป็นยาใช้ภายนอกและใช้เฉพาะที่ภายในช่องหู จึงยังไม่มีรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาน้ำมันมะกอกหยอดหูอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูในช่วงอุณหภูมิ 10 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

น้ำมันมะกอกหยอดหูมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาน้ำมันมะกอกหยอดหูที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cerumol (เซรูมอล) Boots

บรรณานุกรม

  1. http://homeremediesforlife.com/olive-oil-for-ear-infection/ [2016,April30]
  2. http://www.wikihow.com/Clear-up-Ear-Congestion-With-Olive-Oil [2016,April30]
  3. http://www.international.boots.com/en/Cerumol-Oilve-Oil-Ear-Drops-10ml_1405555/ [2016,April30]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Olive_oil [2016,April30]