น้ำมันปลา (Fish oil)

บทความที่เกี่ยวข้อง


น้ำมันปลา

น้ำมันปลาคืออะไร?

น้ำมันปลา (Fish oil) เป็นน้ำมันที่สกัดมาจาก เนื้อ หนัง พุง หัว และหาง ของปลา โดยเฉพาะ ปลาที่อาศัยในแถบทะเลน้ำลึกที่เป็นน้ำเย็น เช่น ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแซลม่อน ปลาแมคเคอเรล ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแอนโชวี่ เป็นต้น ทั้งนี้ น้ำมันปลาไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มอาหารประเภท วิตามิน หรือเกลือแร่ แต่จัดเป็นประเภทอาหารเสริม(Dietary supplement)

น้ำมันปลาประกอบด้วยสารอะไร?

น้ำมันปลาประกอบด้วยสารสำคัญ คือ เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid ย่อว่า PUFA) ในกลุ่มของโอเมก้า -3 (Omega -3) ซึ่งได้แก่

  • กรดไขมัน ไอโคซาเพนตะอีโนอิก แอซิด หรือย่อว่า อีพีเอ (Eicosapentaenoic acid ย่อว่า EPA) และ
  • กรดไขมัน โดโคซาเฮกซะอีโนอิก แอซิด หรือย่อว่า ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid ย่อว่า DHA)

น้ำมันปลามีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

น้ำมันปลามีรูปแบบจำหน่าย เป็นอาหารเสริมชนิดรับประทาน ได้แก่

  • แคปซูลนิ่ม (Soft Gelatin Capsule) และ
  • เยลลี่เคี้ยว (Gummy)

มีข้อบ่งใช้น้ำมันปลาอย่างไร?

ข้อบ่งชี้ของการใช้น้ำมันปลา เช่น

  • ใช้ควบคุมระดับไขมันในเลือด ในภาวะที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hypertriglyceridemia) โดยต้องรับประทานวันละ 2–4 กรัม
  • ลดอัตราการเสียชีวิต จากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (American Heart Association ย่อว่า AHA) แนะนำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease ย่อว่า CHD) รับประทานน้ำมันปลาวันละ 1 กรัม และแนะนำให้บุคคลทั่วไป รับประทานปลาเป็นอาหารอย่างน้อย 2 มื้อต่อสัปดาห์
  • บรรเทาอาการปวด และอาการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

มีข้อห้ามใช้น้ำมันปลาอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว น้ำมันปลามีความปลอดภัยสูง ไม่มีข้อห้ามใช้ใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration ย่อว่า U.S. FDA) แนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำมันปลาชนิด EPA และชนิด DHA ที่เป็นอาหารเสริมเกินวันละ 2 กรัม และทั้งนี้ การบริโภคน้ำมันปลาทั้ง 2 ชนิดทั้งจากการบริโภคอาหารและอาหารเสริมเมื่อรวมกันแล้ว ไม่ควรเกิน 3 กรัม/วัน

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันปลาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันปลา คือ

1. ระวังเกิดความสับสนระหว่างน้ำมันปลา (Fish oil) กับน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) เพราะวัตถุดิบและสารอาหารสำคัญในน้ำมันทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง น้ำมันตับปลา)

2. น้ำมันปลา มีคุณสมบัติต้านการจับตัวเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ทำให้เลือดหยุดไหล ผู้บริโภคน้ำมันปลาปริมาณมากต่อเนื่อง จึงอาจเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย จึงควรระวังการรับประทานน้ำมันปลาในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย เช่น ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด(ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) เช่นยา วาร์ฟาริน (Warfarin), แอสไพริน (Aspirin) และโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เพราะจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกเพิ่มมากขึ้น

3. หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากแผลผ่าตัดได้

4. การรับประทานน้ำมันปลาในขนาดสูง จะเพิ่มปริมาณแคลอรีที่ได้รับต่อวัน จึงอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลงได้

การใช้น้ำมันปลาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

น้ำมันปลามีความปลอดภัย และมีความจำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์ เพราะกรดไขมันในกลุ่มของ Omega –3 นี้ ช่วยในการพัฒนาระบบประสาท ช่วยการพัฒนาการมองเห็น ของทารกในครรภ์ และมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารก ซึ่งช่วยป้องการคลอดก่อนกำหนดได้

นอกจากการได้รับ Omega –3 จากปลาแล้ว หญิงตั้งครรภ์สามารถได้รับ Omega –3 จากการรับประทานอาหารจำพวกอื่น เช่น อาหารทะเล หรือน้ำมันพืช (Vegetable Oil)

ทั้งนี้ ปริมาณ Omega –3 ที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ คือ 0.3 กรัมต่อวัน

การใช้น้ำมันปลาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

น้ำมันปลามีความปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายใดๆในผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามควรระวังการรับประทานน้ำมันปลาในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว และมียาที่จำเป็นต้องใช้หลายชนิด ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย ก่อนที่จะใช้น้ำมันปลาเป็นอาหารเสริม

การใช้น้ำมันปลาในเด็กควรเป็นอย่างไร?

น้ำมันปลามีความปลอดภัย และมีความจำเป็นต่อเด็ก เพราะกรดไขมันในกลุ่มของ Omega –3 ช่วยในการพัฒนาระบบประสาท โดยปริมาณ Omega –3 ต่อวัน ที่เด็กควรได้รับ มีความแตกต่างกันตามอายุ ดังนี้

  • * อายุ 0-6 เดือน: ควรได้รับ DHA 0.1-0.18 % ของพลังงานที่เด็กที่ได้รับต่อวัน
  • *อายุ 7-24 เดือน: ควรได้รับ DHA 10-12 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1กิโลกรัม ต่อวัน
  • อายุ 25เดือน -4 ปี: ควรได้รับ EPA และ DHA 100 - 150 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 49เดือน -6 ปี: ควรได้รับ EPA และ DHA 150 - 200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุมากกว่า 6ปี-10 ปี ควรได้รับ EPA และ DHA 200 - 250 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุมากกว่า 10ปีขึ้นไป ขนาดการบริโภคเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ดังได้กล่าวในหัวข้อ ข้อบ่งชี้ฯ, ข้อห้ามฯ, ข้อควรระวังฯ

*อนึ่ง: ปัจจุบัน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอาหาร คือ FAO ของ สหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ยังไม่ได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำของ EPA ที่ควรได้รับต่อวันในเด็กอายุ 0 – 24 เดือน กำหนดแต่เพียง DHA ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองโดยเฉพาะในส่วนการเรียนรู้และความจำ

อาการไม่พึงประสงค์ของน้ำมันปลาเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากน้ำมันปลาพบได้น้อยมาก

  • โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ที่อาจพบได้ เช่น การเกิดเลือดออกง่าย เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจ้ำเลือด (Bruise) ตามผิวหนังทั่วตัว
  • ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย เป็นต้น

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริมทุกชนิด(รวมน้ำมันปลา) และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. อธิป สกุลเผือก. ไขความลับน้ำมันปลา ตอนที่ 1: ผลของน้ำมันปลาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. 2557. แหล่งที่มา: http://pcog.pharmacy.psu.ac.th/images/Article/2557/03/fishoil.pdf [2016,Sept17]
  2. อธิป สกุลเผือก. ไขความลับน้ำมันปลา ตอนที่ 1: ผลต่อสมองและการบรรเทาอาการปวดอักเสบ. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. 2557. แหล่งที่มา: http://pcog.pharmacy.psu.ac.th/images/Article/2557/07/fishoil2.pdf [2016,Sept17]
  3. ประเสริฐ อัสสันตชัย. เรื่องปลา…ปลา… ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/347_1.pdf [2016,Sept17]
  4. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. Fish oil-derived free fatty acid ใช้เป็นยารักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1233 [2016,Sept17]
  5. Greenberg J.A., Bell S.J. and Ausdal W.V. Omega-3 fatty acid supplementation during pregnancy. Review in Obstetrics and Gynecology 1. (2008) : 162-169
  6. Villani A.M. and others. Fish oil administration in older adults: is there potential for adverse events? A systematic review of the literature. BMC Geriatrics 13. (2013) : 1-9
  7. Food and Agriculture Organization of the United Nations. Fats and Fatty acids in human nutrition. FAO Food and Nutrition paper 91. http://foris.fao.org/preview/25553-0ece4cb94ac52f9a25af77ca5cfba7a8c.pdf [2016,Sept17]
  8. http://www.fda.gov/SiteIndex/ucm108351.htm [2016,Sept17]
  9. http://americanpregnancy.org/pregnancy-health/omega-3-fish-oil/ [2016,Sept17]