น้ำมันตับปลา (Cod liver oil)

บทความที่เกี่ยวข้อง


น้ำมันตับปลา

น้ำมันตับปลาคืออะไร?

น้ำมันตับปลา(Cod liver oil) เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลาค็อด (Cod) ซึ่งเป็นปลาทะเล ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gadus morhua อยู่ในวงศ์ Gadidae หรือ สกัดมาจากตับของปลาชนิดอื่นๆที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน เช่น ปลา Haddock และ ปลา Whiting

น้ำมันตับปลาประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอะไรบ้าง?

น้ำมันตับปลามีสารอาหารสำคัญหลักๆคือ วิตามินเอ (Vitamin A) และวิตามินดี (Vitamin D) รวมทั้งมีกรดไขมัน ชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid ย่อว่า PUFA) และกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า -3 (Omega -3) อยู่ในปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ กรดไขมัน ไอโคซาเพนตะอีโนอิก แอซิด หรือย่อว่า อีพีเอ (Eicosapentaenoic acid ย่อว่า EPA) และกรดไขมัน โดโคซาเฮกซะอีโนอิก แอซิด หรือย่อว่า ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid ย่อว่า DHA)

น้ำมันตับปลามีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

น้ำมันตับปลามีรูปแบบจำหน่าย เป็นยารับประทาน เช่น

  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • แคปซูลนิ่ม (Soft Gelatin Capsule)
  • เยลลี่เคี้ยว (Gummy)

มีข้อบ่งใช้น้ำมันตับปลาอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้น้ำมันตับปลา เช่น

1. ใช้บรรเทาอาการปวดข้อ (Joint pain) หรืออาการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก (Muscle stiffness)

2. ใช้เป็นวิตามิน เอ, วิตามิน ดี บำรุงร่างกาย หรือใช้ในผู้ที่มีภาวะขาด วิตามินเอ และ/หรือ วิตามิน ดี โดย

  • วิตามินเอ: ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย บำรุงสายตา ป้องกันภาวะตาฟาง/ตาบอดกลางคืน (Night blindness) ช่วยให้การเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆในร่างกายเป็นปกติ
  • วิตามินดี: เป็นตัวช่วยในการดูดซึม แคลเซียม และฟอสฟอรัส(Phosphorus)จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายเพื่อ ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันและรักษาโรคกระดูกน่วม(Ricket) และช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ

มีข้อห้ามใช้น้ำมันตับปลาอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้น้ำมันตับปลา เช่น

1. ห้ามใช้น้ำมันตับปลา ในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ (เช่น ยาวิตามิน เอ) วิตามินดี(เช่น ยาวิตามิน ดี) หรือแคลเซียม (เช่น ยา Calcium carbonate) อยู่ด้วย

2. ห้ามใช้น้ำมันตับปลา ในผู้ป่วยที่ได้รับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) ได้

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันตับปลาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันตับปลา เช่น

1. ระวังเกิดความสับสนระหว่างน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) กับน้ำมันปลา(Fish oil) เพราะวัตถุดิบที่ใช้และสารสำคัญในอาหารทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่างกัน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง น้ำมันปลา)

2. กรดไขมันในกลุ่มของโอเมก้า -3 (Omega -3) มีคุณสมบัติต้านการเกาะจับกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงทำให้เลือดหยุดได้ช้าลงเมื่อเกิดเลือดออก จึงควรระวังการรับประทานน้ำมันตับปลา ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย เช่น ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยา วาร์ฟาริน (Warfarin), แอสไพริน (Aspirin) และโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เพราะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆเพิ่มมากขึ้น

3. ไม่ควรซื้อน้ำมันตับปลามารับประทานเองเป็นประจำ เพราะส่วนประกอบหลัก คือวิตามินเอ และวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินทั้ง 2 ชนิดนั้น จึงอาจสะสมอยู่ในไขมันในร่างกาย จนส่งผลให้เกิดอันตรายได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com 2 เรื่อง คือ เรื่อง วิตามินเอ และเรื่อง วิตามิน ดี)

การใช้น้ำมันตับปลาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

หญิงตั้งครรภ์ หรือที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันตับปลา เพราะมีส่วนประกอบหลักคือ วิตามินเอในปริมาณสูง ซึ่งหากรวมปริมาณวิตามินเอที่ได้รับจากการรับประทานอาหารอื่นร่วมด้วยแล้ว อาจทำให้ร่างกายได้รับวิตามินเอในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น เกิดความพิการแต่กำเนิดของระบบประสาท

หญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันตับปลา เพราะวิตามินเอและวิตามินดี จะปนมาในน้ำนมได้ จึงอาจทำให้เด็กทารกได้รับปริมาณวิตามินเอ และวิตามินดีมากเกินไป จนเกิดอันตรายได้ เช่น ตับอักเสบกรณีได้วิตามินเอมากเกินไป และเกิดนิ่วในไต หรือภาวะแคลเซี่ยมสูงในเลือด กรณีได้รับวิตามินดีมากเกินไป

การใช้น้ำมันตับปลาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

น้ำมันตับปลามีความปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายใดๆในผู้สูงอายุปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ควรระวังการรับประทานน้ำตับมันปลาในผู้ป่วยที่สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย เพราะน้ำมันปลาจะเสริมให้เกิดเลือดออกในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้สูงขึ้นมาก นอกจากนี้ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว และมียาต่างๆที่จำเป็นต้องใช้หลายชนิดที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยานั้นๆกับน้ำมันตับปลาได้ หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะใช้น้ำมันตับปลา

การใช้น้ำมันตับปลาในเด็กควรเป็นอย่างไร?

น้ำมันตับปลามีความปลอดภัยในเด็ก แต่ถ้าเด็กๆสามารถรับประทานอาหารต่างๆได้ครบทั้ง 5 หมู่ และไม่มีภาวะขาดวิตามินใดๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ และวิตามินดี เด็กก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานน้ำมันตับปลาเสริม เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากทั้งวิตามินเอ และวิตามินดี ที่ได้รับมากเกินไปได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องผลข้างเคียงของวิตามินเอ และวิตามิน ดี ได้ในเว็บ haamor.com 2 เรื่อง คือ เรื่อง วิตามินเอ และเรื่อง วิตามิน ดี

อาการไม่พึงประสงค์จากน้ำมันตับปลามีอะไรบ้าง?

องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration ย่อว่า U.S. FDA) ได้กำหนดปริมาณ วิตามินเอ และวิตามินดี ที่ควรได้รับต่อวัน (Daily Value) ไว้ดังนี้

ก. วิตามินเอ :

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป ควรได้รับ 5,000 IU(International unit) ต่อวัน
  • เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี ควรได้รับ 1,500 IU ต่อวัน
  • เด็กอายุมากกว่า 1 – น้อยกว่า 4 ปี ควรได้รับ 2,500 IU ต่อวัน
  • หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับ 8,000 IU ต่อวัน

ข. วิตามินดี: ควรได้รับ 400 IU ต่อวัน เท่ากันทั้งหมดทุกวัย ทั้งในวัยผู้ใหญ่ เด็กทุกๆช่วงวัย หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

โดยหากได้รับปริมาณวิตามินเอ และ วิตามิน ดี เกิน Daily value ที่กำหนดไว้ อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ได้ โดย

  • หากได้รับวิตามิน เอ มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • หากได้รับวิตามิน ดี มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการ กระหายน้ำ ลดความอยากอาหาร(เบื่ออาหาร) น้ำหนักตัวลด อ่อนแรง คันตามผิวหนัง อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวม วิตามิน เกลือแร่ น้ำมันตับปลา น้ำมันปลา และอาหารเสริมทุกชนิด) ยาแผนโบราญทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ประเสริฐ อัสสันตชัย. เรื่องปลา…ปลา… ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล : www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/347_1.pdf [2016,Sept17]
  2. อนุเทพ ภาสุระ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา. ความแตกต่างของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=6454 [2016,Sept17]
  3. ประสงค์ เทียนบุญ. Q&A โภชนาการในทารก เด็กและผู้ใหญ่. วารสารคลินิกอาหารและโภชนาการ 1. (2553) : 3-9
  4. The Medscape Journal of Medicine. Mother was Right About Cod Liver oil http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2258476/ [2016,Sept17]
  5. U.S. Food and Drug Administration. Guidance for Industry: A Food Labeling Guide (14. Appendix F: Calculate the Percent Daily Value for the Appropriate Nutrients) http://www.fda.gov/Food/GuidanceRegulation/GuidanceDocumentsRegulatoryInformation/LabelingNutrition/ucm064928.html [2016,Sept17]
  6. University of Maryland Medical Center (UMMC). Vitamin D. Online]. 2016 http://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/vitamin-d [2016,Sept17]