น้ำกัดเท้า เรื่องเศร้าจากน้ำท่วม

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบด้านสถานบริการสาธารณสุขว่า ขณะนี้ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลชุมชนและ โรงพยาบาลทั่วไปได้ มีปัญหาเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สต.) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม จนถึงวันนี้ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 34 แห่ง ในจำนวนนี้ไม่สามารถเปิดให้บริการที่หน่วยที่ตั้งได้ ให้ไปจัดบริการในจุดอพยพ 16 แห่งแทน โดยสำนักงานสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยรวม 173 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 17,609 ราย มากที่สุดคือ น้ำกัดเท้า รองลงมาคือโรคผิวหนังผื่นคัน เนื่องจากน้ำเริ่มเน่าเสีย ได้แจกยาไปแล้ว 73,764 ชุด

โรคน้ำกัดเท้า หรือที่เรามักรู้จักกันในนาม “ฮ่องกงฟุต” (Athlete's foot) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อราที่เท้า ทำให้เกิดอาการคัน และผิวลอกเป็นเกร็ดหรือแผ่นๆ เมื่ออากาศร้อนมากและเท้าชื้นมาก ประกอบกับมีเหงื่อออกมากด้วย จะเป็นบ่อเกิดของเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes ซึ่งจะเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดีมากในอากาศร้อนชื้น

แม้ว่าโรคนี้มักจะเกิดขึ้นที่เท้า โดยเฉพาะเวลาเดินเท้าเปล่า แต่ก็สามารถกระจายไปส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ Jock itch คือการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ ต้นขา ข้อพับต้นขาที่เรารู้จักในชื่อภาษไทยว่า” สังคัง” และ Ringworm คือ กลากที่ศีรษะ ในบางกรณีอาจมีตุ่มพอง (Blister) และผิวแตก ทำให้เจ็บปวด บวม และอักเสบ อาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรีย นอกเหนือจากเชื้อรา

การติดเชื้อส่วนใหญ่มักมาจากการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว รองเท้า หรือว่ายน้ำในสระสาธารณะ อาการของโรคเชื้อราที่เท้า คือ มักคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุยๆ เป็นผื่นที่เท้า ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก ที่เป็นมากและพบบ่อยจะเกิดตรงซอกนิ้ว แต่ก็สามารถเกิดที่ส้นเท้าและอาจลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้ ผู้ป่วยบางรายอาจประสบอาการแพ้เชื้อราที่เรียกว่า "Id reaction" ซึ่งทำให้ตุ่มพองสามารถปรากฏในบริเวณ มือ หน้าอก และแขน ซึ่งมักเกิดจากการรักษาเชื้อราด้วยยาบางชนิด

น้ำกัดเท้า เป็นโรคที่ติดต่อได้ เชื้อเราที่เป็นสาเหตุของน้ำกัดเท้า มักจะซ่อนตัวอยู่ตามพื้นห้องอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัวที่เปียกแฉะ และรองเท้า และสามารถกระจายติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งที่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน หรือสัมผัสกันระหว่างอาบน้ำ ดังนั้นสุขอนามัย จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลน้ำกัดเท้า เนื่องจากเชื้อราจะเจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เปียกชื้น จึงควรดูแลเท้าและร้องเท้าให้แห้งเท่าที่จะทำได้ และหลีกเลี่ยงการการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

การรักษาโรคราที่เท้า ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้น ใช้ครีมกันเชื้อรา โรยแป้งฝุ่น หรือ ฉีดสเปรย์ยาที่เท้า ยารักษาเชื้อรามีมากมายหลายขนาน เวลาในการรักษาอาจยาวนานถึง 45 วัน หรือมากกว่านั้น โรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน เกิดในรายที่รุนแรง แต่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

การป้องกันโรคราที่เท้า ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่แห้ง เช็ดเท้าให้แห้งโดยเฉพาะซอกเท้าหลังอาบน้ำ ใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยขนสัตว์ดีกว่าผ้าฝ้ายเพราะผ้าขนสัตว์ช่วยซับความชื้นจากเท้า ถ้าเป็นเท้าเปียกควรเปลี่ยนรองเท้า ควรมีรองเท้า 2 คู่ ใส่สลับกัน ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน ซึ่งไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการป้องกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้ประสบภัยน้ำท่วมป่วยพุ่ง 4 แสนราย สธ.เร่งกระจายยาเพิ่ม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000125246 [9 ตุลาคม 2011].
  2. Athlete's foot. http://en.wikipedia.org/wiki/Athlete%27s_foot [9 ตุลาคม 2011].