นีโอมัยซิน (Neomycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานีโอมัยซิน (Neomycin) เป็น ยาปฏิชีวนะ จัดอยู่ในยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Amino glycosides) ด้วยเหตุที่ยานีโอมัยซินดูดซึมในทางเดินอาหารได้น้อย จึงมักพบเห็นรูปแบบยา เป็นการใช้เฉพาะที่ เช่น ยาอม ยาทา และยาหยอดตา

นีโอมัยซิน

ยานีโอมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยานีโอมัยซินมีสรรพคุณต้านทานแบคทีเรียกลุ่ม คอคโคบาซิลไล (Coccobacilli) รักษา การติดเชื้อของ หู ตา และ แผลติดเชื้อที่ผิวหนัง

ยานีโอมัยซินมีกลไกการออกฤทธ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยานีโอมัยซิน โดยจะเข้าไปเกาะจับกับสารพันธุกรรมที่เรียกว่า อาร์ เอน เอ (RNA) ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ การแบ่งตัวจึงหยุดชะงัก และตายในที่สุด

ยานีโอมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยานีโอมัยซิน คือ มีการจำหน่ายในรูปแบบของ ยาเม็ด ยาครีม ยาหยอดตา และยาอมแก้เจ็บคอ

ยานีโอมัยซิน มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานและการใช้ยานีโอมัยซินมีได้หลากหลาย ขึ้นกับแต่ละโรค ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือ พยาบาลทุกครั้งและไม่ควรซื้อยาใช้เอง

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยานีโอมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติ แพ้ยา ทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่า อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือ กำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานีโอมัยซิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยา ใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยานีโอมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยานีโอมัยซินที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผื่นคัน มีอาการไข้ และการได้ยินผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ยานีโอมัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยานีโอมัยซิน คือ ในการรับประทานในขนาดสูงๆ จะส่งผลให้เกิดสภาวะไตวาย และเกิดการทำลายของหูชั้นใน เกิดหูหนวกได้

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยานีโอมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยานีโอมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยานีโอมัยซิน กับยาตัวอื่นที่พบได้บ่อย คือ

การกินยาร่วมกับยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว จะทำให้การดูดซึมของยารักษาโรคหัวใจลดน้อยลง ตัวอย่างยารักษาโรคหัวใจ คือ ยาไดจ็อกซิน (Digoxin)

ควรเก็บรักษายานีโอมัยซินอย่างไร?

การเก็บรักษายานีโอมัยซินในทุกรูปแบบบรรจุ ให้เก็บที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสงแดด กล่าวคือ ควรเก็บในตู้เย็น แต่ไม่ใช่ในช่องแช่แข็ง และในอุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 อง ศาเซลเซียส และที่สำคัญอีกประการคือ ควรต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก

ยานีโอมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยานีโอมัยซินขายในประเทศไทย เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actnovate (แอคโนเวท) T P Drug
Archidex Eye/Ear (อาร์คิเดก) T P Drug
Bacal (บาคาล) Nakornpatana
Banocin (บาโนซิน) Nakornpatana
Besone – N (บีโซน-เอน) Atlantic Lab
Beta – Dipo (บีตา-ดิโป) Thai Nakorn Patana
Betacort – N (บีตาคอร์ต) Utopian
Betama – EN (บีตามา) Union Drug
Betameth – N (บีตาเมธ) Osoth Interlab
Betamethasone – N GPO (บีตาเมธาโซน) GPO
Bethasone – N (บีธาโซน) Greater Pharma
Betnovate – N (เบตโนเวท) Glaxo Smith Kline
Betosone – EN (บีตาโซน) T.O. Chemicals
Cadexcin – N (คาเดกซิน) Thai Nakorn Patana
Clinivate – N Cream (คลินิเวท) Bangkok Lab & Cosmetic
Coccila (คอกซิลา) Thai Nakorn Patana
Derzid – N (เดอร์ซิด) Unison
Dermacombin (เดอร์มาคอมบิน) Union Medical
Dexacin (เดซาซิน) ANB
Dexoph (เดกออป) Sang Thai
Dexylin (เดกซีลิน) General Drugs House
Disento (ดิเซนโต) Nakornpatana
Eyedex (อายเดก) Siam Bheasach
Flunobate – N (ฟลูโนเบท-เอน) Thai Nakorn Patana
Flunolone (ฟลูโนโลน) Atlantic Lab
Izac (ไอแซค) Thai Nakorn Patana
Kaolin–Pectin+Neomycin (เคโอลิน-เปกติน-นีโอมัยซิน)Suphong Bhaesaj
Lobacin (โลบาซิน) T.O. Chemicals
Medcin (เมดซิน) Millimed
My – B (มาย- บี) Greater Pharma
Mybacin (มายบาซิน) Greater Pharma
Mybacin Dermic (มายบาซินเดอร์มิค) Greater Pharma
Myneocin (มายนีโอซิน) Greater Pharma
Mysolone – N (มายโซโลน) Greater Pharma
Neo–Medrol Acne Lotion (นีโอเมดรอล แอคเนโลชัน) Pfizer
Neo–Optal (นีโอ ออปตัล) Olan - Kemed
Neobet (นีโอเบท) Medicphama
Neodex (นีโอเดก) Osoth Inter Lab
Neozolone (นีโอโซโลน) Bristis Dispensary
Novacin (นีโอวาซิน) T.O. Chemicals
Patarvate – N (พาทาร์เวทเอน) Patar Lab
Prednisolone–N GPO (เพรดนิโซโลนเอนจีพีโอ) GPO
Supralan–N (ซูพราลานเอน) Siam Bheasach
Synalar– N (ไซนาลาเอน) Sanofi-aventis
Tenovate– N (ทีโนเวทเอน) T Man Pharma
Thrody (โทรดี) Greater Pharma
Unipred (ยูนิเพรด) Osoth Interlab
Valbet–N (วัลเบทเอน) Biolab
Vesoph (เวสออป) T.C. Pharma – Chem
Xanalin (ซานาลิน) Silom Medical

บรรณานุกรม

  1. Antibiotics. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/ [2014,March27]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Antimicrobial [2014,March27 ]
updated 2014, March 29