นิ่วในถุงน้ำดี (ตอนที่ 2)

นิ่วในถุงน้ำดี-2

นพ.ทวี กล่าวถึงการดูแลตัวเองหลังการรักษาว่า ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารที่มีไขมัน 3-4 สัปดาห์ ลดการทำกิจกรรมที่หักโหมทางร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และงดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เพราะเมื่อไม่มีถุงน้ำดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบการย่อยไขมันบกพร่องลงไปด้วย

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) เกิดจากองค์ประกอบในน้ำดีตกตะกอน จับตัวรวมกันเป็นชิ้นส่วนแข็งที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะเล็กที่มีลักษณะคล้ายลูกแพร์อยู่บริเวณท้องด้านขวาใต้ตับ

โดยนิ่วจะมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายจนใหญ่ขนาดเท่าลูกกอล์ฟ บางคนอาจมีนิ่วเพียงก้อนเดียว ในขณะที่บางคนอาจมีนิ่วหลายก้อนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งเราสามารถแบ่งก้อนนิ่วออกเป็น 2 ชนิดหลัก คือ

  • ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 80 ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลือง ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ตับหลั่งคลอเรสเตอรอลออกมามากจนน้ำดีไม่สามารถละลายได้หมด ส่วนที่เหลือจึงตกตะกอนและกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
  • ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล เกิดจากการที่ตับสร้างบิลิรูบินมากเกิน มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี (Biliary tract infections) หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด (Blood disorders) จึงทำให้บิลิรูบินก่อตัวเป็นก้อนนิ่ว

[บิลิรูบิน เป็นสารเคมีที่เกิดเมื่อตับทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง]

The American College of Gastroenterology ได้เปิดเผยว่า ร้อยละ 80 ของนิ่วในถุงน้ำดี จะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic gallstones / silent gallstones) อย่างไรก็ดี ร้อยละ 10 ของผู้ที่ไม่มีอาการ จะเริ่มแสดงอาการหลังจาก 5 ปี และอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ

โดยกรณีที่ก้อนนิ้วไปอุดขวางท่อน้ำดี อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดอย่างรุนแรงและเฉียบพลันในช่องท้องด้านบนขวา (ปวดจุกแน่น)
  • ปวดอย่างรุนแรงและเฉียบพลันกลางช่องท้องใต้ราวนม
  • ปวดหลังระหว่างกระดูกสะบัก (Shoulder blades)
  • ปวดที่ไหล่ขวา
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • ปัสสาวะสีคล้ำ (Dark urine)
  • อุจจาระมีสีโคลน (Clay-colored stools)

ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง และอาจมีเพิ่มอาการเจ็บขึ้นเรื่อยๆ นานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงก็ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้หญิงอ้วนวัย40 กินแล้วจุกแน่นบ่อย เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี. http://www.thaihealth.or.th/Content/39556-ผู้หญิงอ้วนวัย40 กินแล้วจุกแน่นบ่อย เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี.html [2017, December 16].
  2. Gallstones. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gallstones/symptoms-causes/syc-20354214 [2017, December 16].
  3. Gallstones: What You Should Know. https://www.webmd.com/digestive-disorders/gallstones#1 [2017, December 16].
  4. Understanding Gallstones: Types, Pain, and More. https://www.healthline.com/health/gallstones [2017, December 16].
  5. Gallstones. https://www.medicinenet.com/gallstones/article.htm [2017, December 16].