นาฟซิลลิน (Nafcillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาฟซิลลิน (Nafcillin หรือ Nafcillin sodium)เป็นยาปฏิชีวนะที่อยู่ในกลุ่ม เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic) มีการออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ในวงแคบ ทางคลินิกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียประเภทแกรมบวก (Gram-positive bacteria) อย่างเช่น เชื้อ Staphylococci ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน(Penicillin) กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้คือ ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต และไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

ยานาฟซิลลิน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดฉีด โดยสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำก็ได้ เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 90% ตัวยาในร่างกายน้อยกว่า 30% จะถูกทำลายโดยตับ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้ร่างกายใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็สามารถกำจัดยานาฟซิลลินทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะได้แล้ว

ข้อจำกัดการใช้ยานาฟซิลลินนี้ มีเพียงบางประการที่พอสรุปได้ อาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม Tetracycline เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของ ยานาฟซิลลินด้อยลงไป

ทางการแพทย์สามารถใช้ยานาฟซิลลินได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาต่างๆ อย่างเช่น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

หลักสำคัญประการหนึ่งของการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะครบเทอมของการรักษาถึงแม้การใช้ยาไปในระยะต้นๆจะทำให้อาการป่วยดีขึ้นจนเหมือนเป็นปกติแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่รวมยานาฟซิลลินนั่นเอง ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยานาฟซิลลินภายใน 2–3 วัน แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลง อาการเป็นหนักมากขึ้น กรณีนี้ แพทย์จะเปลี่ยนแปลงทางการรักษาให้ผู้ป่วยโดยเร็ว

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยานาฟซิลลินที่ผู้ป่วยควรทราบเพิ่มเติม ดังนี้ เช่น

  • ยานาฟซิลลินเป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้รักษาอาการป่วยที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด/โรคหวัดทั่วไป โรคไข้หวัดใหญ่
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ อาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อประเภทอื่นๆตามมา อย่างเช่น พวกเชื้อรา แพทย์จึงไม่แนะนำการใช้ยานาฟซิลลินต่อเนื่องนานเกินไป
  • การใช้ยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิดรวมยานาฟซิลลิน อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียตามมา กรณีทีเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังใช้ยานาฟซิลลิน อาจตั้งข้อสันนิษฐานว่าเกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่(ลำไส้ใหญ่อักเสบ) ที่มีชื่อเรียกว่า Pseudomembranous colitis กรณีนี้ ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อแพทย์ตรวจสอบและเยียวยาแก้ไขโดยเร็ว ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาแก้ท้องเสียมารับประทานเองโดยเด็ดขาด
  • ผู้ที่มีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หากได้รับการให้ยานาฟซิลลินร่วมด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลง ผู้ป่วยควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • ขณะที่มีการใช้ยานาฟซิลลิน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดดูการทำงาน ของไตร่วมด้วยตามแพทย์สั่ง เพื่อเป็นการประเมินผลข้างเคียงที่อาจเกิดต่อระบบไตนั่นเอง
  • อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้ทั่วไปของยา นาฟซิลลิน ได้แก่ มีอาการท้องเสียได้เล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถหายได้เองหลังหยุดใช้ยานี้
  • *ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จากเกิดอาการ ตัวสั่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน เกิดอาการชักกระตุก ความฉลาดน้อยลง กรณีพบอาการเหล่านี้ขณะกำลังได้รับยาในสถานพยาบาล ต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล เพื่อการแก้ไขโดยเร็ว

ทุกครั้งที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล นอกจากต้องให้ความร่วมมือในการทำหัตถการต่างๆทางการแพทย์แล้ว จะต้องให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น มีโรคประจำตัวใดบ้าง มีประวัติแพ้ยา หรือระหว่างนี้มีการใช้ยาอะไรเป็นประจำ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอง และส่งผลต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิผล

นาฟซิลลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาฟซิลลิน

ยานาฟซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • รักษาโรคปอดบวมที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ข้อ(ข้ออักเสบติดเชื้อ)และที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)
  • รักษาการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ(เยื่อบุหัวใจอักเสบ)

นาฟซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาฟซิลลิน มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถขยายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

นาฟซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาฟซิลลิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Nafcillin ขนาด 1 กรัม/50 มิลลิลิตร และ 2 กรัม/100 มิลลิลิตร

นาฟซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานาฟซิลลินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป: ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1-2 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน, กรณีติดเชื้อที่ผิวหนังรุนแรง อย่างเช่น แผลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แพทย์อาจต้องฉีดยาเป็นเวลา 14-21 วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน -ผู้ที่อายุ18 ปี: กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงระดับต่ำถึงระดับปานกลาง ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือ เข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 12.5–25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง, กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงมาก ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 100-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งการฉีดยาเป็นทุกๆ 4-6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ข้อ(ข้ออักเสบติดเชื้อ):

  • ผู้ใหญ่: ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูก(กระดูกอักเสบ):

  • ผู้ใหญ่: ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ง. รักษาการอักเสบของเนื้อเยื่อบุโพรงหัวใจ(เยื่อบุหัวใจอักเสบ):

  • ผู้ใหญ่: ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

จ.รักษาอาการโรคปอดบวม:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 21 วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน–18 ปี: กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงระดับต่ำถึงระดับปานกลางให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 12.5–25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง, กรณีติดเชื้อที่มีความรุนแรงมาก ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 100-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งการฉีดยาเป็นทุกๆ 4-6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ฉ.สำหรับการติดเชื้อในกระแสเลือด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: ผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับยานี้ครบเทอมของการรักษา ถึงแม้อาการจะดีขึ้นหลังใช้ยานี้ไปไม่กี่ครั้ง ห้ามหยุดใช้ยานี้กลางคัน โดยไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาฟซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ โรคหืด มีภาวะท้องเสียเรื้อรัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาฟซิลลิน อาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การฉีดยานาฟซิลลินให้ผู้ป่วยจะต้องกระทำในสถานพยาบาล โดยเป็นไปตามตารางการให้ยาของแพทย์ ดังนั้นโอกาสลืมฉีดยาให้ผู้ป่วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี หากลืมมารับการฉีดยา หรือไม่สามารถมารับการฉีดยาได้ตามแพทย์นัด ควรต้องรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบโดยเร็ว เพื่อจัดตารางการนัดฉีดยาใหม่โดยเร็ว

นาฟซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาฟซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวทุกชนิดยกเว้นชนิดLymphocyte ต่ำ), Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ), เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ ลิ้นมีสีคล้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เป็นพิษต่อระบบประสาท เช่น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อไต: เช่น ไตอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนปนออกมากับปัสสาวะ(มีโปรตีนในปัสสาวะ)

มีข้อควรระวังการใช้นาฟซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาฟซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป หรือยาตกตะกอน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • แพทย์จะหยุดใช้ยานี้ทันที กรณีตรวจพบร่างกายผู้ป่วยมีการติดเชื้อรา หรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้ พร้อมกับพิจารณาเปลี่ยนยา และปรับแนวทางการรักษา
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วย จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นก็ยังต้องใช้ยานี้จนครบเทอมของการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานาฟซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาฟซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาฟซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยานาฟซิลลินร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียง จากยา Methotrexate ได้มากขึ้น โดยจะแสดงอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ช่องปากเป็นแผล เม็ดเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยานาฟซิลลินร่วมกับยา Tetracycline ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยานาฟซิลลินด้อยลงไป
  • การใช้ยานาฟซิลลินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น Ethinyl estradiol อาจเป็นเหตุให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงจนเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมาได้ กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยานาฟซิลลินร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ ยา Diltiazem ลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษานาฟซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยานาฟซิลลิน ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

นาฟซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาฟซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Unipen (ยูนิเพน)Wyeth

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Nallpen

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/nafcillin.html[2017,April15]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Nafcillin[2017,April15]
  3. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050655s017lbl.pdf[2017,April15]
  4. https://www.drugs.com/sfx/nafcillin-side-effects.html[2017,April15]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/nafcillin-index.html?filter=2#T[2017,April15]