นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine releasing agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine releasing agent เขียนย่อว่า NRA) หรือจะเรียกว่า อะดรีเนอร์จิก รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Adrenergic releasing agent)ก็ได้ กลุ่มยาประเภทนี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้สมองและต่อมหมวกไตเกิดการหลั่งสารสื่อประสาท 2ตัวคือ นอร์อิพิเนฟริน(Norepinephrine)และอิพิเนฟริน(Epinephrine) ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้ เช่น

ก. นอร์อิพิเนฟริน อาจเรียกว่า นอร์อะดรีนาลีน(Noradrenaline)ก็ได้ ตามธรรมชาติ นอร์อิพิเนฟรินจะถูกสังเคราะห์ที่สมองตรงบริเวณเส้นประสาทที่เรียกว่า Axon เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิด จะทำให้มีการปลดปล่อยนอร์อิพิเนฟริน สารสื่อประสาทชนิดนี้จะเดินทางข้ามไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ถัดไป ทำให้เซลล์ประสาทดังกล่าวสั่งให้ อวัยวะที่อยู่ในการควบคุม ทำงาน นอร์อิพิเนฟรินยังมีการสังเคราะห์จากต่อมหมวกไต ได้เช่นกัน ทั้งสมองและต่อมหมวกไตจะใช้สารโดพามีน(Dopamine) เป็นสารตั้งต้น ในการสังเคราะห์นอร์อิพิเนฟริน กลไกการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทต่างๆนั้น จำเป็นต้องเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่ตามอวัยวะของร่างกายเสียก่อนจึงจะ ออกฤทธิ์สั่งการให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการตอบสนอง/การทำงานขึ้น เช่น

1 ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น

2 กระตุ้นให้น้ำตาลกลูโคสถูกปลดปล่อยและนำมาใช้เป็นพลังงาน

3 เพิ่มอัตราการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อลาย

4 ลดการไหลเวียนของเลือดไปยังระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของอวัยวะในทางเดินอาหารลดลง

5 ยับยั้งการบีบตัวและหยุดการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ

ข. อิพิเนฟริน เป็นสารสื่อประสาทอีกหนึ่งตัวที่ผลิตจากต่อมหมวกไตเป็นส่วนมากและมีบางส่วนถูกผลิตจากเซลล์ประสาทในสมองโดยใช้นอร์อิพิเนฟรินเป็นสารตั้งต้น ทั่วไป การหลั่งอิพิเนฟรินมักจะเกิดขึ้นมากเมื่อร่างกายมีภาวะเครียด อิทธิพลของสารสื่อประสาทอิพิเนฟรินมีอยู่หลายประการและคล้ายกับนอร์อิพิเนฟริน เช่น

1 ทำให้หลอดลมคลายตัว ส่งผลให้หายใจสะดวกขึ้น

2 กระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว จึงมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

3 มีผลต่อการส่งผ่านน้ำตาลกลูโคสเข้าสมองและหัวใจได้มากยิ่งขึ้น

4 ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว มีแรงบีบตัวมากขึ้น

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจอาจเปรียบเทียบข้อเหมือนและข้อแตกต่างของสารสื่ประสาททั้งสองตัวได้ดังนี้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ซึ่งมีทั้งที่ใช้เป็นยารักษาโรคและบางกลุ่มที่ยังไม่ได้นำมาใช้เป็นยา มีดังนี้ เช่น Bupropion, Cafedrine, Cinnamedrine, Corbadrine, 1,3-Dimethylbutylamine, Ephedrine, Epinephrine, Ethylnorepinephrine, Phenylethanolamine, Levomethamphetamine, Mephentermine, Methylhexanamine , Β-Methylphenethylamine, L-Norpseudoephedrine, Oxilofrine, Phentermine, Phenylisobutylamine, Phenylpropanolamine, Pseudoephedrine,Tuaminoheptane

ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อหายาเหล่านี้/ยากลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ มารับประทานเอง การเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยนั้น ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น และสามารถขอคำปรึกษาข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นอร์อิพิเนฟรินรีลีสซิ่งเอเจนท์

กลุ่มยานอร์อิพิเนฟรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก เช่น Norpseudoephedrine, Bupropion, Phentermine
  • ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น เช่น Bupropion
  • รักษาอาการซึมเศร้า เช่น Bupropion
  • ใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ เช่น Ephedrine
  • ใช้ลดน้ำมูกบำบัดอาการโรคหวัด เช่น Pseudoephedrine, Phenylpropanolamine
  • ใช้เป็นยาช่วยชีวิตกรณีหัวใจหยุดเต้นโดยกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ เช่น Epinephrine
  • ใช้รักษาโรคหืดขณะที่มีอาการรุนแรง เช่น Epinephrine

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดย

  • กรณีใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์อิ่มอาหารในสมองให้ทำงานและยับยั้งศูนย์หิวในสมอง ทำให้ลดความอยากอาหารตลอดจนเร่งการเผาผลาญใช้น้ำตาลกลูโคสที่สะสมอยู่ในร่างกาย
  • กรณีใช้รักษาความดันโลหิตต่ำหรืออยู่ในภาวะช็อก ตัวยานี้จะกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้หัวใจเต้นเร็วและมีแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น
  • กรณีใช้รักษาอาการแพ้โดยมีอาการหอบหืดร่วมด้วย ตัวยานี้จะช่วยให้หลอดลมคลายตัว จึงทำให้หายใจสะดวกขึ้น
  • กรณีใช้รักษาอาการซึมเศร้า ตัวยานี้จะกระตุ้นสมองให้มีการตื่นตัว ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความมั่นใจในตัวเอง
  • กรณีใช้รักษาอาการโรคหวัด ตัวยานี้จะช่วยให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัว ทำให้ลดการหลั่งน้ำมูก ส่งผลให้อาการคัดจมูกดีขึ้น

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด
  • ยาหยอดจมูก
  • ยารับประทาน ทั้งชนิด เม็ด แคปซูล และยาน้ำ

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ บางตัวถูกจัดให้อยู่ในประเภทยา/วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สามารถก่อให้เกิดอันตรายและทำให้มีภาวะติดยาเกิดขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย การใช้ยาชนิดใดๆในกลุ่มยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การลืมรับประทานยาในกลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียรุนแรงเท่าใดนัก ผู้ที่ลืมรับประทานยานั้นๆ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น วิงเวียน เกิดภาวะติดยา
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก

มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีของยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งเพิ่มความรุนแรงจนเกิดอันตรายของผลข้างเคียงจากยานั้นๆ
  • หากรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์กำหนด แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยา และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง
  • ระวังการเสพติดยาบางตัวในกลุ่มนี้
  • มาโรงพยาบาล/มาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Bupropion ร่วมกับยา Aminophylline, Ofloxacin, Amitriptyline ,และPhenylpropanolamine อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการลมชักโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ ยาEphedrine ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง เช่นยา Bethanidine และ Guanethidine เพราะจะทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป

ควรเก็บรักษานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

ควรเก็บยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Quomem (คูโอเมม)GlaxoSmithKline
Wellbutrin XL (เวลบูทริน เอ็กซ์แอล)GlaxoSmithKline
Alergin (อะเลอจิน)Cipla Limited
Asthimo (แอสทิโม)Jagsonpal Pharmaceuticals Ltd
Binkof (บินคอฟ)Bini Laboratories Pvt. Ltd
Ephedrine Nasal Drops (เอฟีดรีน นาซอลดร็อป) Thornton and Ross Ltd.
Efipres (อีฟิเพรส)Neon Laboratories Ltd
Ephedrine (อีฟีดรีน)Unicure(India) Pvt.Ltd.
Ephedrine Hydrochloride (อีฟีดรีน ไฮโดรคลอไรด์)Cyper Pharma
Sulfidrin (ซัลไฟดริน)Samarth Pharma Pvt.Ltd.
Tedral SA (เทดรัล เอสเอ)Pfizer Limited

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine_releasing_agent [2018,Jan6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Norepinephrine_releasing_agents [2018,Jan6]
  3. https://www.drugs.com/answers/norepinephrine-epinephrine-difference-3132946.html [2018,Jan6]
  4. file:///C:/Users/apai/Downloads/Hormones%20of%20the%20Adrenal%20Medulla%20(1).pdf [2018,Jan6]