ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) คือ ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลายในวงการแพทย์ไทย เช่น ในโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคหนองใน), โดยมากจะพบเห็นในรูปแบบ ยารับประทาน

ยานี้ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร, ได้ประมาณ 30–40% ของยาที่บริโภค, ซึ่งพบว่าความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดจะมีระดับสูงสุดภายใน 1–2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา, การดูดซึมของยานอร์ฟลอกซาซินจะถูกรบกวนเมื่อรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

การกระจายตัวของยานอร์ฟลอกซาซินหลังเข้าสู่ร่างกาย สามารถผ่านเข้าสู่รกในหญิงมีครรภ์ และพบปริมาณยามากในน้ำดี ซึ่งเมื่อยานี้ผ่านไปที่ตับ ยานี้จะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย, ยานอร์ฟลอกซาซินจะถูกขับออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ, หากใช้ยากับผู้ที่มีภาวะไตผิดปกติ อาจทำให้ระดับยานอร์ฟลอกซาซินตกค้างอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น

จากการศึกษาการใช้ยานอร์ฟลอกซาซินในสัตว์ทดลองพบว่า ยานี้สามารถก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ของสัตว์ทดลองได้ จึงเป็นเหตุผลที่ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร (โดยหลักจริยธรรม จึงไม่สามารถศึกษาผลกระทบนี้ต่อทารกในครรภ์ของคนได้โดยตรง จึงใช้ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง นำมาเป็นคำแนะนำและข้อปฏิบัติแทน) ดังนั้นการใช้ยานี้จึงมีความจำเป็นต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีคุณสมบัติใช้รักษา:

  • การติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea)
  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • รวมไปถึงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร

ยานอร์ฟลอกซาซินยานอร์ฟลอกซาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานอร์ฟลอกซาซินนี้ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารเคมีบางตัว เช่น สาร DNA Gyrase ซึ่งอยู่ในขบวนการสร้างสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย ส่งผลให้การขยายและแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียลดลง

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

 รูปแบบการจัดจำหน่ายของยานอร์ฟลอกซาซิน:

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 100, 200, และ 400 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำชนิดรับประทานสำหรับเด็ก

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีขนาดรับประทาน

ก. ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป:

  • สำหรับการติดเชื้อหนองใน: เช่น รับประทานครั้งเดียว, ขนาด 800 มิลลิกรัม
  • สำหรับการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
    ชนิดเฉียบพลัน: เช่น รับประทาน 200 มิลลิกรัม เช้า–เย็น แต่หากเป็นชนิดเรื้อรัง  รับประทาน 400 มิลลิกรัม เช้า–เย็น
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร: เช่น ขนาดรับประทาน 400 มิลลิกรัม, เช้า–เย็น

อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง คือ ก่อนอาหาร

ข. ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยานอร์ฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์ฟลอกซาซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์  หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาทุกชนิด รวมทั้งยานอร์ฟลอกซาซิน สามารถรับประทานยาในขนาดปกติเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมรับประทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติเช่นกัน โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยานอร์ฟล็อกซาซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยานอร์ฟลอกซาซิน เช่น 

  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ปวดหัว   
  • วิงเวียน  
  • ง่วงนอน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลข้างเคียงอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่พบเป็นจำนวนน้อย เช่น
    • ชักกระตุก
    • ผื่นแพ้แสงแดด   
    • เม็ดเลือดขาวต่ำ(Leucopenia)
    • เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)   
  • *กรณีที่รับประทานยานี้ในขนาดสูงๆเป็นประจำ อาจเกิดการตกตะกอนของยาในปัสสาวะ, เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เช่น นิ่วในไต

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์ฟลอกซาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Quinolones
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารก
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงมีครรภ์ หรือ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มี โรคตับ และ/หรือ โรคไต
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก หรือผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บทาง ระบบประสาทส่วนกลาง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา"  ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานอร์ฟลอกซาซิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานอร์ฟลอกซาซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • การรับประทาน ร่วมกับ ยาลดกรด อาจทำให้การดูดซึมของยานอร์ฟลอกซาซินเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
  • การรับประทาน ร่วมกับยา Probenecid จะไปเพิ่มการขับยานอร์ฟลอกซาซินออกจากร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น ประสิทธิผลของยานอร์ฟลอกซินจึงลดลง
  • การรับประทานยานอร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด   ยาต้านชัก (เช่นยา Phenytoin) หรือยาขยายหลอดลม (เช่นยา Theophylline) สามารถเพิ่มฤทธิ์ หรือ เพิ่มความแรงของยานอร์ฟลอกซาซินได้ ผลข้างเคียงจากยานอร์ฟลอกซาซินจึงอาจสูงขึ้น

ควรเก็บรักษายานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?

สามารถเก็บรักษายานอร์ฟลอกซาซิน เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง แต่ควรต้องเก็บยาฯให้พ้นแสงแดด, หรือ เก็บยาฯตามระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในที่ชื้น เช่น ในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยานอร์ฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นๆ ทางการค้าของยานอร์ฟลอกซาซิน และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Crossa-200 (ครอสซา-200) T. Man Pharma
Floximed (ฟล็อกซิเมด) Burapha
Foxin (โฟซิน) Pharmaland
Foxinon (โฟซินอน) M & H Manufacturing
Gonorcin (โกนอร์ซิน) General Drugs House
Janacin (จานาซิน) Biolab
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์) Thai Nakorn Patana
M-Flox 400 (เอ็ม-ฟล็อกซ์ 400) Millimed
Myfloxin (มายโฟลซิน) Greater Pharma
Noracin (นอราซิน) Chew Brothers
Norbactin (นอร์แบ็กติน) Ranbaxy Unichem
Norcin Utopian (นอร์ซิน ยูโทเปียน) Utopian
Norfa (นอร์ฟา) Suphong Bhaesaj
Norflacil (นอร์ฟลาซิล) Inpac Pharma
Norflocin (นอร์โฟลซิน) Polipharm
Norflox Osoth (นอร์ฟล็อก โอสถ) Osoth Interlab
Norflox RX (นอร์ฟล็อก อาร์ เอ็กซ์) R.X.
Norfloxin (นอร์โฟลซิน) T.O. Chemicals
Norfloxyl (นอร์โฟลซิล) Bangkok Lab & Cosmetic
Norxacin (นอร์ซาซิน) Siam Bheasach
Norxia-200 (นอร์เซีย-200) Asian Pharm
Noxinor (โนซินอร์) Masa Lab
Proxacin (โพรซาซิน) Inpac Pharma
Rexacin (เรซาซิน) Unison
Sanorflox (ซานอร์ฟล็อก) Pharmahof
Sefnor (เซฟนอร์) Unison
Urinox (ยูริน็อกซ์) Charoen Bhaesaj Lab
Xacin (ซาซิน) Pharmasant Lab
Zinor 400 (ซีนอร์ 400) Patar Lab

 

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Noroxin

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=norfloxacin  [2023,Feb25]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Norxacin/?q=norfloxacin&type=brief [2023,Feb25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Norfloxacin [2023,Feb25]
  4. https://www.drugs.com/cdi/norfloxacin.html [2023,Feb25]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/norfloxacin.html [2023,Feb25]
  6. https://www.drugs.com/mtm/norfloxacin.html#interactions  [2023,Feb25]