นอนไม่หลับ กับยานอนหลับ (ตอนที่ 2)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แบ่งประเภทของยาและสารเสพติด ออกเป็น 10 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มยาที่ประกอบด้วยยากล่อมประสาท (Sedative) ยาระงับประสาท (Tranquilizer) ยากดประสาท (Hypnotic) และยานอนหลับ (Sleeping pills)

ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงมากมายหลายประการเช่น เสพแล้วติด เหนื่อยเพลียระหว่างวัน ขาดสติในการขับขี่ยวดยานพาหนะ ลดประสิทธิภาพความทรงจำ และเดินโซเซหรือหกล้ม รวมถึงพบว่าในระยะยาว การใช้ยานอนหลับเป็นการใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิผลเพราะมักเกิดอาการดื้อยาและความเสี่ยงในการใช้จนอาจเป็นสาเหตุให้คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อฤทธิ์ของยา

เมื่อเกิดความตึงเครียดหรือนอนไม่หลับ (Insomnia) ทางออกที่พบบ่อยคือ ขอให้แพทย์สั่ง ”ยานอนหลับ” (Sleeping Pills) ที่คาดหวังว่าจะทำให้หลับได้อย่างสงบ แต่ในความเป็นจริง ยานอนหลับไม่ได้ทำให้หลับสบายอย่างที่คาดหวังเสมอไป แต่จะกดเซลล์สมอง กล่อมประสาทส่วนกลางและสมองให้สงบ ส่งผลให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) และอัตราการการหายใจ (Breathing Rate)

นอกจากนี้ ความง่วงงุนงง สับสน (Confusion) ยังเป็นผลที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้บริโภคยามีความคิด ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวร่างกายเชื่องช้าลง เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณ (Dose) ที่สูงหรือดื่มสุรา (Alcohol/Liquor) ไปด้วยในเวลาใกล้เคียงกัน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต

ร่างกายมนุษย์จะปรับตัวให้ยอมรับต่อการค่อยๆ เพิ่มปริมาณ ซึ่งบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหากับผู้ใช้ยา คือเกิดการติดยา (Dependence) และผู้ใช้ยานอนหลับในระยะยาว หากหยุดยาปัจจุบันทันด่วน ก็มักก่อให้เกิดอาการ สั่น ตื่นตระหนก ประสาทอ่อน และวิตกกังวล (Anxiety)

หากคุณใช้ยานอนหลับหรือยาคลายกังวลแล้วพบว่ามีอาการ 3 ใน 5 ของอาการต่อไปนี้ เป็นไปได้มาก ว่าคุณกำลังมีอาการเสพติดยานอนหลับ

  • ทุกข์ทรมานจากความหดหู่หรือความซึมเศร้า (Depression)
  • ต้องกินยานอนหลับก่อนจึงหลับลงได้
  • พบว่ายากลำบากที่จะหยุดยานอนหลับ
  • ยังกินยานอนหลับอยู่แม้ไม่รู้สึกต้องการ
  • ค่อยๆเพิ่มปริมาณ (Dose) การใช้ยานอนหลับ

แพทย์มักไม่ให้ใช้ยานอนหลับต่อเนื่องเป็นเวลานาน และจะพยายามไม่เพิ่มปริมาณ ดังนั้นผู้ที่ติดยานอนหลับจึงมักต้องทำสิ่งที่เรียกกันว่า “Doctor Shopping” คือพบแพทย์ไม่ซ้ำกัน แต่ให้แพทย์สั่งยานอนหลับซ้ำ [โดยแพทย์ไม่รู้ตัว] เพื่อจะได้เพิ่มปริมาณ และใช้ต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

หากคุณพบว่ามีอาการเสพติดดังที่กล่าวข้างต้น ก็ให้ค่อยๆลดปริมาณการใช้ยานอนหลับลง แล้วจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น โดยยังนอนหลับได้ดีขึ้น กล่าวคือคุณต้องใช้กำลังใจและต้องเข้มแข็ง [ในการต่อสู้] เพราะการเสพติด เป็นเรื่องของทั้งกายภาพและจิตใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. Sedative. http://en.wikipedia.org/wiki/Sedative [2012, April 2].
  2. What are sleeping pills - and why we should avoid an addiction. http://www.knowledgesutra.com/discuss/tpcmtt-sleeping-pills-avoid-addiction.html [2012, April 2].
  3. Sleeping Pills – Addiction and Withdrawal. http://www.insomniacs.co.uk/sleeping-pills-addiction-withdrawal.html [2012, April 2].