นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย (ตอนที่ 1)

คนอนไม่หลับกระสับกระส่าย-1

      

      จากงานวิจัยหลายฉบับที่แสดงในที่ประชุม The European Study of Cardiology เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การนอนที่มากหรือน้อยเกินไปมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) ที่เพิ่มขึ้น เช่น การแข็งตัวของหลอดเลือด (Hardened arteries) โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attacks) โรคหลอดเลือดสมอง (Strokes) ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะหัวใจวาย (Heart failure)

      Dr. Epameinondas Fountas และคณะ ได้ทำการศึกษากล่าวว่า เราใช้เวลานอน 1 ใน 3 ของชีวิต แต่เรามีความรู้ที่น้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบทางชีวภาพของการนอนที่มีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system)

      แม้ว่านักวิจัยด้านการนอนหลับจะแนะนำให้มีเวลานอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่จากข้อมูลการศึกษาหลายอย่างร่วมกันและใช้การวิเคราะห์ทางสถิติ (Meta-analysis) พบว่า ควรหลับให้ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ

      จากการตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep study) ด้วยเครื่องตรวจ Waist-band monitor เพื่อดูลักษณะการนอนหลับ (Sleep patterns) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน หรือ ผู้ที่ตื่นบ่อยตอนกลางคืน จะมีโอกาสในการมีภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27

      ในขณะเดียวกัน ก็มีงานวิจัยในสวีเดนที่ศึกษาถึงระยะเวลาการนอนในปี พ.ศ.2536 ของคนวัยกลางคนจำนวน 798 ราย พบว่าใน 20 ปีต่อมา ผู้ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน จะมีความเสี่ยงในการมีภาวะหัวใจที่รุนแรงเพิ่มมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่หรือเป็นโรคเบาหวานถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การอดนอนยังมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น โรคอ้วน และ สุขภาพจิต เป็นต้น

      Dr. Fountas กล่าวว่า เราจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มถึงเหตุผลที่แท้จริง แต่ที่รู้ก็คือ การนอนหลับมีผลต่อกระบวนการทางชีวภาพ เช่น เมแทบอลิซึมของกลูโกส (Glucose metabolism) ความดันโลหิต (Blood pressure) และ การอักเสบ (Inflammation) ซึ่งมีผลกระทบต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

      ภาวะขาดการนอนหลับ หรือ การนอนหลับไม่พอ (Sleep deprivation) เป็นปัญหาที่พบมากในสังคมสมัยใหม่ การอดนอนบ่อยๆ สามารถเป็นสาเหตุของการง่วงนอนระหว่างวัน อารมณ์ขุ่นหมอง (Emotional difficulties) มีผลการทำงานที่ต่ำ เป็นโรคอ้วน และมีคุณภาพชีวิตที่แย่

      ต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักที่เกี่ยวกับภาวะขาดการนอนหลับ

  • การนอนหลับไม่พอขัดขวางการมีสมาธิและการผสมผสานประสบการณ์ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental sensory input)
  • การนอนหลับไม่พอทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น เครื่องจักรกล รถยนต์ เป็นต้น
  • เด็กและผู้ใหญ่วัยต้นมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะขาดการนอนหลับ
  • ภาวะขาดการนอนหลับสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติด้านการนอนหรือปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Sleep Deprivation Is More Dangerous Than We Thought, Studies Show. https://www.yahoo.com/news/sleep-deprivation-more-dangerous-thought-124700248.html [2018, September 23].
  2. What's to know about sleep deprivation? https://www.medicalnewstoday.com/articles/307334.php [2018, September 23].