นอนให้หลับช่วยกำจัดขยะสมองได้

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าการนอนหลับนั้นดีต่อสุขภาพและช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ โดยผลการศึกษาในหนูพบว่า การนอนหลับที่ดีจะช่วยล้างสารพิษในสมองได้ ทั้งนี้เพราะพื้นที่ระหว่างเซลล์สมองจะเพิ่มขึ้นในขณะที่หลับ ทำให้สมองสามารถขับสารพิษที่เกิดขึ้นในช่วงขณะตื่นออกไปได้

นายแพทย์ Dr. Maiken Nedergaard กรรมการของ The Center for Translational Neuromedicine แห่ง The University of Rochester Medical Center ในนิวยอรค์ เปิดเผยว่า การนอนหลับจะเปลี่ยนโครงสร้างของเซลล์ในสมอง ทำให้อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมือนเดิม การนอนหลับมีความสำคัญต่อความจำ และการนอนหลับจะช่วยให้สมองชำระล้างเอาโมเลกุลพิษออกไปได้

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Science โดยแสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่หลับนั้น ระบบท่อที่เรียกว่า ระบบกลิมพาติก (Glymphatic system) จะเปิด ทำให้ของเหลวไหลไปสู่สมองอย่างรวดเร็ว ทีมวิจัยของ Dr. Nedergaard ได้ค้นพบว่า ระบบกลิมพาติกจะช่วยควบคุมการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า น้ำไขสันหลัง หรือน้ำสมอง หรือน้ำในโพรงสมอง (Cerebrospinal fluid = CSF) ซึ่งเป็นของเหลวที่ปกคลุมสมองและไขกระดูก

ในช่วงแรกนั้น นักวิจัยได้ศึกษาระบบด้วยการฉีดสีย้อมลงไปในน้ำไขสันหลังของหนูและสังเกตการไหลผ่านสมอง ในขณะเดียวกันก็คอยติดตามดูการเคลื่อนไหวของสมอง (Electrical brain activity) ด้วย ปรากฏว่า สีย้อมจะไหลอย่างรวดเร็วเมื่อหนูตกอยู่ภายใต้สภาวะจิตไร้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่หลับหรือชา ในทางตรงข้ามเมื่อหนูตื่น สีย้อมจะไหลช้าลง

Dr. Nedergaard อธิบายว่า ช่องว่างระหว่างสมองจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างช่วงจิตรู้สำนึกและจิตไร้สำนึก โดยการทดสอบแนวคิดนี้ นักวิจัยได้ใส่ขั้วไฟฟ้า (Electrodes) ลงไปในสมองโดยตรง เพื่อวัดพื้นที่ระหว่างเซลล์สมอง แล้วพบว่า สมองของหนูในขณะที่หลับหรือชานั้นจะมีพื้นที่ภายในเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 60

เซลล์สมองที่เรียกว่า “เกลีย” (Glia) จะเป็นตัวควบคุมการไหลผ่านระบบระบบกลิมพาติกด้วยการหดหรือขยายตัว ส่วน นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) จะเป็นฮอร์โมนกระตุ้นที่ใช้ควบคุมปริมาตรของเซลล์ โดยนักวิจัยพบว่า เมื่อขัดขวางการทำงานของนอร์อะดรีนาลีนและทำให้หนูหลับด้วยยา ซึ่งหนูจะอยู่ภายใต้สภาวะจิตไร้สำนึก (Unconsciousness) แล้ว การไหลของของเหลวในสมองและพื้นที่ในสมองจะเพิ่มขึ้น นับเป็นการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างระบบระบบกลิมพาติกกับจิตรู้สำนึก (Consciousness)

ทั้งนี้ งานวิจัยก่อนหน้านี้เคยค้นพบว่า โมเลกุลพิษที่ทำให้ประสาทเสื่อมลงนั้น จะสะสมตัวในพื้นที่ระหว่างเซลล์ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ศึกษาถึงการทำงานของระบบกลิมพาติก ด้วยการใช้โปรตีนเบตาอะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ฉีดเข้าไปในหนูและวัดว่าโปรตีนเบตาอะไมลอยด์จะสามารถอยู่ในสมองหนูได้นานเท่าไรทั้งในขณะที่หนูตื่นและหลับ และนักวิจัยก็ค้นพบว่า เบตาอะไมลอยด์ในหนูจะหายไปอย่างรวดเร็วในขณะที่หนูหลับ นั่นหมายความว่า การหลับสามารถกำจัดโมเลกุลพิษออกไปจากสมองได้

นายแพทย์ Jim Koenig แห่ง The National Institute of Neurological Disorders and Stroke (NINDS) ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า ผลการทดลองนี้จะสามารถนำไปใช้ศึกษาถึงความผิดปกติของประสาทหลายๆ ชนิดได้ ซึ่งหมายความว่า เซลล์ที่ควบคุมระบบกลิมพาติก น่าจะเป็นเป้าหมายในการศึกษาเพื่อรักษาโรคต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Brain May Flush out Toxins During Sleep; Sleep Clears Brain of Molecules Associated With Neurodegeneration: Study. http://www.sciencedaily.com/releases/2013/10/131017144636.htm [2013, November 1].