นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 6)

พญ.อุมาพร กล่าวว่า การที่จะรู้ว่าลูกของเรานอนกรนแบบไหน อันตรายหรือไม่อันตรายนั้น ให้สังเกตด้วยการดูการหายใจ เช่น ลูกอ้าปากหายใจ เพราะจมูกหายใจเข้าไปไม่พอหรือเปล่า

อันดับต่อมาคือหายใจแบบกระสับกระส่าย เหมือนนอนหลับไม่สนิท เหมือนกับว่าถ้าอากาศเข้าสู่ร่างกายน้อย ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น เลือดเป็นกรด ระบบสารเคมีในร่างกายผิดปกติ ร่างกายจะมีเซลล์ตอบรับว่าหายใจไม่พอเลยต้องกระตุ้นให้ตื่น ตื่นในขณะหลับก็ทำให้เด็กกระสับกระส่าย เหมือนหลับแต่ไม่ได้พักผ่อน

อันดับต่อมา เหงื่อจะออกมาก หายใจในขณะหลับแล้วจะรู้สึกเหนื่อย บางครั้งเด็กจะมีการปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำในช่วงกลางคืน และอันดับสุดท้ายที่สังเกตได้ง่ายเลยก็คือ หายใจเข้าแล้วหน้าอกยุบแต่ท้องป่องซึ่งถือว่าผิดปกติ เพราะปกติเวลาคนเราหายใจเข้าแล้วหน้าอกต้องขยายแต่ท้องยุบ

ส่วนช่วงกลางวัน เด็กมักอ้าปากหายใจ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง บางครั้งนั่งง่วงเหมือนไม่สดชื่น เด็กบางคนพฤติกรรมเปลี่ยน ก้าวร้าว รวมทั้งเด็กบางคนเหมือนเลี้ยงไม่โต เพราะหุ่นมักจะผอมๆ แล้วตอนเช้ามักจะปวดศีรษะ เหมือนไม่ได้หลับทั้งคืน ปวดศีรษะไปโรงเรียนไม่ไหว

สำหรับเด็กการกรนอาจจะเกิดบางโอกาส และประมาณร้อยละ 10 หรือมากกว่านั้นจะกรนในช่วงกลางคืน เสียงจะดังมากน้อยเท่าไรขึ้นกับปริมาณอากาศที่ผ่านและความเร็วของการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อที่คอ เด็กที่อายุ 3 ปี หรือมากกว่ามักจะกรนระหว่างการหลับลึก

อย่างไรก็ดีเสียงกรนที่ดังเป็นประจำของเด็กในตอนกลางคืนนั้นถือเป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ภูมิแพ้ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ในปี พ.ศ.2545 The American Academy of Pediatrics ได้เสนอแนะให้เด็กทุกคนเข้ารับการตรวจเรื่องอาการกรนว่าเป็นสิ่งปกติหรือเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กไม่ได้มีปัญหาแค่การกรน แต่ยังมีปัญหาเรื่องการหายใจระหว่างนอนด้วย ระหว่างที่เด็กนอน กล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและอากาศผ่านไม่พอ เป็นผลให้มีการหยุดหายใจ 2-3 วินาทีหรือยาวนาน 1 นาที หลังจากนั้นสมองจะตื่นตัวและส่งสัญญาณให้ร่างกายพยายามหายใจอีกครั้ง ความพยายามนี้ทำให้เด็กอ้าปากหายใจหรือกรน ตื่น และเริ่มหายใจอีกครั้ง หากเกิดอาการซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เด็กจะนอนหลับแบบไม่ได้คุณภาพ

ปัญหาทางกายภาพที่ทำให้เด็กเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็คือ การมีต่อมทอนซิลที่ใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของคอ ซึ่งจะใหญ่สุดเมื่ออายุประมาณ 5-7 ปี ดังนั้นทอนซิลที่บวมอาจขวางทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบาก จากสถิติของ The National Center for Health Statistics ของอเมริกัน พบว่า ในแต่ละปีมีเด็กอเมริกันที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิลมากกว่า 263,000 ราย โดยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นเหตุผลหลัก

แหล่งข้อมูล:

  1. เมื่อลูกน้อยนอนกรน : อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000135670 [2013, November 7].
  2. Snoring in Children. http://www.sleepfoundation.org/article/hot-topics/snoring-children [2013, November 7].