นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 5)

การตัดติ่งเนื้อในจมูก (Nasal polyps) - ติ่งเนื้อในจมูกเป็นเมือกที่เกิดจากการแพ้ เมื่อติ่งนี้โตขึ้นจะสามารถขวางทางเดินหายใจได้ ซึ่งสามารถรักษาด้วยการผ่าเอาติ่งออก ทำให้อาการกรนดีขึ้น

การผ่าตัดช่องปาก (Oral surgery) - อาการกรนอาจเกิดจากเพดานอ่อนและลิ้นไก่ซึ่งยาวและห้อย การผ่าตัดช่องปากจะช่วยให้เนื้อเยื่อกระชับและแข็งขึ้น

การผ่าตัดลิ้นไก่ (Uvulectomy) – ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสและกลืนลำบาก ทั้งนี้ความเสี่ยงที่สำคัญในการตัดลิ้นไก่ก็คือ อาการปวด เลือดไหลไม่หยุด และสำเนียงการพูดที่เปลี่ยนไป

การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้แสงเลเซอร์ (Laser assisted uvulopalatoplasty = LAUP) – จะมีการตัดเพดานอ่อนของลิ้นไก่ด้วยเลเซอร์ รอยแผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เพดานอ่อนแข็งและลดการสั่นสะเทือน วิธีนี้จะทำให้ปวดไปประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถช่วยด้วยยาลดปวดได้ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันสมาคมแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) ไม่อนุญาตให้ใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดคอหอย (Pharynx) หรือลิ้นไก่ (Uvula) ทั้งนี้เพราะรอยแผลที่เกิดขึ้นก็สามารถทำให้ทางเดินหายใจแคบลงมากกว่าก่อนการรักษาได้

การรักษาโดยการจี้เพดานปากด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Ablation) – เป็นการทำให้เทอร์บิเนตหดตัวโดยทำให้เกิดรอยบนเนื้อเยื่อ (Scar tissue) ซึ่งมีผลทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น วิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยใช้ไม้แทงลงไปในเนื้อเยื่อ แล้วจึงปล่อยคลื่นความถี่วิทยุเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที (ที่ความร้อนระหว่าง 77 °C - 85 °C) เนื้อเยื่อจะเป็นรอยและแข็ง การสั่นสะเทือนจะลดน้อยลง

กระบวนการนี้จะได้ผลเมื่อเกิดรอยแผลเป็นบนเนื้อเยื่อ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการเห็นผลอย่างชัดเจน ร้อยละ 77 ของผู้ที่ใช้วิธีนี้รายงานว่ามีการกรนน้อยลง อย่างไรก็ดีหากรอยนี้นุ่มลง การกลับมาบวมและทำให้ทางเดินหายใจแคบลงก็อาจเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งจากงานวิจัยหนึ่งระบุว่าร้อยละ 29 กลับมาเป็นซ้ำหลังจาก 1 ปี

การปลูกถ่ายเพดานปาก (Palate implants) ด้วยการใช้วัสดุที่ทำจากหลอดเลือดเทียม (Dacron) หรือที่ในปี พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (The United States Food and Drug Administration = FDA) เรียกว่า The Pillar Procedure

วิธีนี้ใช้วัสดุ Dacron จำนวน 3-6 แท่ง สอดเข้าไปในเพดานอ่อน ซึ่งวัสดุนี้จะคงอยู่ในเนื้อเยื่อช่วยให้เพดานปากแข็งและลดอาการกรน อย่างไรก็ดีวิธีนี้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากการใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าไปในเนื้อเยื่อเพดานปาก หากเกิดกรณีนี้ต้องรีบเอาออกและเปลี่ยนวัสดุใหม่

ทั้งนี้ มีรายงานระบุว่า การปลูกถ่ายเพดานปากช่วยลดอาการกรนได้ผลดี หากมีการให้คะแนนเสียงกรนระดับ 1-100 แล้ว การปลูกถ่ายเพดานปากก็สามารถช่วยลดเสียงจากระดับ 79 มายังระดับ 48 ได้ในเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ร้อยละ 89 ของคนที่กรนยังแนะนำต่อให้คนอื่นใช้วิธีนี้ ในขณะที่ร้อยละ 69 ของคู่นอนของคนที่กรนแนะนำให้คนอื่นใช้วิธีนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. Snoring. http://www.medicinenet.com/snoring/article.htm [2013, November 3].
  2. Snoring. http://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2013, November 6].