นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 4)

การใช้อุปกรณ์ทันตกรรมช่วย (Dental devices) อุปกรณ์ทันตกรรมที่ใช้สวมตอนนอนทุกคืนสามารถช่วยรักษาอาการกรนได้ร้อยละ 70-90 อย่างไรก็ดีอุปกรณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นมากขึ้นก็ได้ เช่น ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorder = TMJ) หรือมีภาวะน้ำลายไหลมาก (Excessive salivation) ทั้งนี้ อุปกรณ์เหล่านี้มักจะใช้ในผู้ที่มีอาการไม่มากนัก

การใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับจมูกและยา (Nasal devices and medications) ถ้าจมูกบวมจากการแพ้หรือสารระคายเคืองอาจช่วยด้วยการใช้สเปรย์พ่นทำความสะอาดจมูก (Nasal saline irrigation spray) แต่ถ้าเป็นการช่วยให้หายใจได้ดีขึ้นอาจใช้สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Nasal steroid sprays) สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนผสมของยาช่วยลดการบวมของเยื่อบุทางหายใจ (Nasal decongestants)

การใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure = CPAP) เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในคนไข้ที่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อุปกรณ์นี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจแคบลงระหว่างการหายใจเข้าและหายใจออก โดยการสวมหน้ากากซึ่งต่อกับท่อเพื่อปรับให้ความดันอากาศมีมากกว่าระดับปกติ

ทั้งนี้ความดันจะถูกปรับให้เหมาะสมในแต่ละคน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการกรนและการหยุดหายใจขณะหลับ อย่างไรก็ดีเครื่องดังกล่าวค่อนข้างใหญ่และเสียงดัง ไม่สะดวกกับคนไข้ที่จะสวมตลอดทั้งคืนทุกวัน จึงไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก

สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่วางขายในตลาดเพื่อช่วยอาการกรนนั้น ขึ้นกับความพอใจของแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์

ส่วนการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการกรนนั้น เป็นการลดสิ่งกีดขวางหรือเพื่อขยายพื้นที่บริเวณกายวิภาค (Anatomic area) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการกรน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 1 ตำแหน่ง ดังนั้นการผ่าตัดเพียงจุดเดียวอาจเพียงแค่ลดอาการกรนได้เพียงบางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ก่อนการผ่าตัด ควรอย่างยิ่งที่จะเข้ารับการแปลผลการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) เพื่อให้แน่ใจว่าการกรนไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะถ้าเป็นกรณีนี้จะต้องมีการตรวจด้วยเครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจด้วย ทั้งนี้เพราะการผ่าตัดแก้อาการกรนอาจทำให้อาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับถูกอำพรางได้ ทำให้ตรวจไม่พบ

การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการกรนมีหลายแบบ ได้แก่

การเบี่ยงเบนของผนังกลางจมูก (Deviated septum) – กรณีที่การกรนเกิดจากผนังกลางจมูกซึ่งควรจะอยู่ระหว่างกลางทำหน้าที่แบ่งรูจมูกเป็น 2 ช่อง เกิดการเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพราะอุบัติเหตุหรือเป็นแต่กำเนิด ก็สามารถทำการผ่าตัดแก้ไขกระดูกอ่อนที่เอียงได้ เมื่อทางเดินหายใจโล่งอาการกรนก็จะดีขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Snoring. http://www.medicinenet.com/snoring/article.htm [2013, November 3].