นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 2)

การกรนเกิดได้ในคนทุกรูปร่าง เรามักคิดเสมอว่าผู้ชายที่ตัวใหญ่มีคอหนามักจะนอนกรน อย่างไรก็ดีผู้หญิงผอมมีคอเล็กก็สามารถกรนเสียงดังได้ โดยทั่วไปคนที่แก่ตัวลงและคนที่มีน้ำหนักมากมักจะกรนมากขึ้น

ในขณะที่เรากำลังหายใจ อากาศจะไหลเข้าและออกอย่างสม่ำเสมอจากจมูกหรือปากไปยังปอด ซึ่งจะมีเสียงหายใจเล็กน้อยขณะกำลังนั่ง หากมีการออกกำลังกาย อากาศจะเคลื่อนไหวเร็วขึ้นและทำให้เกิดเสียงดังขณะหายใจ ทั้งนี้เพราะการหายใจเร็วทำให้การไหลของอากาศแปรปรวนและทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อในจมูกและปาก

เมื่อเรานอนหลับ บางครั้งบริเวณด้านหลังของคอจะแคบลง ดังนั้นเมื่ออากาศต้องไหลผ่านช่องที่เล็กลงก็สามารถเป็นเหตุให้เนื้อเยื่อรอบๆ สั่นสะเทือนได้ ทำให้เกิดเสียงกรน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีต้นเหตุของบริเวณที่แคบลงต่างกันไป เช่น บริเวณจมูก ปาก หรือ คอ

โดยทั่วไปเราหายใจผ่านรูจมูก 2 ข้าง ซึ่งแยกด้วยผนังกลางจมูก (Septum) ที่ประกอบด้วย กระดูกอ่อน (Cartilage) กระดูก (Bone) และเยื่อบุจมูก (Nasal mucosa) ด้านข้างของรูจมูกจะประกอบด้วยกระดูกเทอร์บิเนต (Turbinate) 3 อันคือ Inferior, Middle และ Superior turbinate ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในโพรงจมูก

ในเทอร์บิเนตจะประกอบด้วยหลอดเลือดฝอยจำนวนมากมายที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของอากาศ ถ้าหลอดเลือดในเทอร์บิเนต มีขนาดใหญ่ขึ้น เทอร์บิเนตก็จะบวมและทำให้อากาศไหลได้น้อยลง ในทางกลับกันถ้าหลอดเลือดแคบลงการไหลเวียนของอากาศก็เพิ่มมากขึ้น

โดยปกติทุกคนจะมีวัฏจักรการหายใจของจมูกแต่ละข้างอยู่ที่ข้างละ 8 ชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเทอร์บิเนตด้านขวาบวม อากาศส่วนใหญ่จะไหลเข้าทางด้านซ้าย หลังจากนั้นประมาณ 8 ชั่วโมง ด้านขวาจะหายบวมในขณะที่ด้านซ้ายจะบวมแทน ทำให้เปลี่ยนมาหายใจทางด้านขวามากกว่า ซึ่งเราอาจสังเกตถึงรอบนี้ได้ขณะที่เป็นหวัด นอกจากนี้ เทอร์บิเนตอาจบวมได้จากการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น อากาศเย็น หรือ ฝุ่นละออง

ดังที่กล่าวแล้วว่า โดยปกติเราจะหายใจผ่านจมูก อย่างไรก็ดีมีหลายคนที่ไม่สามารถหายใจผ่านจมูกเพราะมีสิ่งกีดขวาง ซึ่งอาจเกิดจากผนังกลางจมูก การแพ้ เป็นไซนัส การบวมของเทอร์บิเนต หรือต่อมทอนซิลอะดีนอยด์โต (Adenoids)

บุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องหายใจทางปาก หรือที่เรียกว่า "Mouth breathers" ซึ่งส่วนใหญ่จะกรน เพราะการไหลของอากาศผ่านทางปากทำให้เนื้อเยื่อสั่นสะเทือนและเกิดเสียงมากกว่า

นอกจากเพดานอ่อนและและลิ้นไก่ที่ยาวและห้อยลงมา ซึ่งมักทำให้เกิดการสั่นและเกิดเสียงกรนแล้ว ต่อมทอนซิล (Tonsils) ซึ่งเป็นตัวจับและต่อสู้กับเชื้อโรค ก็อาจเป็นสาเหตุให้กรนได้ เพราะขณะที่ต่อมทอนซิลต้องต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ต่อมทอนซิลจะบวมซึ่งจะกลับสู่สภาพปกติเมื่อหายจากโรค อาการบวมนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและทำให้กรน

แหล่งข้อมูล:

  1. Snoring. http://www.medicinenet.com/snoring/article.htm [2013, November 3].