นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 1)

พญ.อุมาพร พนมธรรม แพทย์โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวถึงการนอนกรนในเด็ก ว่ามีสาเหตุหลักๆ มาจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจเข้ายาก ร่างกายจึงพยายามที่จะสร้างแรงเยอะๆ เพื่อให้ลมเข้า ก็เลยเกิดเป็นเสียงผิดปกติ เรียกว่าการนอนกรน

พญ.อุมาพร กล่าวต่อไปว่า สาเหตุการนอนกรน กลุ่มแรกเป็นเพราะสรีระใบหน้า คือมีโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสรีระใบหน้า เช่น ความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความผิดปกติของโครโมโซมแต่กำเนิด เช่น เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม พวกนี้ใบหน้าจะผิดปกติ แล้วลิ้นก็ผิดระยะ ส่งผลให้ทางเข้าของลมหายใจมีน้อย

อีกกลุ่มหนึ่งก็คือในกลุ่มที่กรามเล็ก หรือกรามหดเข้าไปข้างใน ทำให้ช่องทางเดินหายใจเล็กลง และสุดท้ายคือกลุ่มที่ต่อมท่อน้ำเหลืองรอบทางเดินหายใจมีขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มที่ต่อมทอนซิลอะดีนอยด์โต รวมถึงโพรงจมูกอุดกลั้น เช่นในกลุ่มเด็กที่เป็นภูมิแพ้

พญ.อุมาพร กล่าวอีกว่า ในกลุ่มอาการนอนกรน จะมีการแบ่งเป็นการนอนกรนเฉยๆ หรือนอนกรนที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าเป็นการนอนกรนเฉยๆ ไม่ต้องรักษา เพราะว่ากลุ่มนี้จะไม่มีการทำให้สารเคมีในเลือดผิดปกติ แต่ถ้าเป็นการนอนกรนอีกแบบที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ อันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรักษา

การกรน (Snoring) เป็นการสั่นสะเทือนของโครงสร้างทางเดินหายใจซึ่งมีเสียงขึ้นเกิด เนื่องจากมีสิ่งขีดขวางการเคลื่อนไหวของทางเดินหายใจในขณะหลับ บางรายก็มีเสียงเล็กน้อย แต่บางรายก็มีเสียงดัง การกรนเป็นสัญญาณเตือนภัยของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea = OSA)

โดยทั่วไปอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกรนก็คือ ลิ้นไก่ (Uvula) และ เพดานอ่อน (Soft palate) โดยมีสิ่งที่มากีดขวางทางหายใจซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • ความไม่แข็งแรงของคอ (Throat weakness) ทำให้คอปิดขณะหลับ
  • กรามอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูก (Mispositioned jaw) ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง
  • มีไขมันรอบบริเวณคอ
  • มีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ
  • เนื้อเยื่อของโครงสร้างทางเดินหายใจติดกัน ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน
  • ยาผ่อนคลาย (Relaxants) หรือแอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อที่คอคลายตัว
  • การนอนหงายอาจเป็นสาเหตุให้ลิ้นตกลงไปทางด้านหลังของปาก

ทุกคนสามารถกรนได้ จากงานวิจัยประมาณว่าปกติร้อยละ 45 ของผู้ชาย และร้อยละ 30 ของผู้หญิงนอนกรน หรือบ่อยครั้งที่พบว่าคนที่ปกติไม่ได้นอนกรน อาจนอนกรนได้ระหว่างป่วย หลังดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาบางชนิด

แหล่งข้อมูล:

  1. เมื่อลูกน้อยนอนกรน : อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000135670 [2013, November 2].
  2. Snoring. http://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2013, November 2].
  3. ]Snoring. http://www.medicinenet.com/snoring/article.htm [2013, November 2].