นมวัวมิใช่ของแท้ นมแม่สิของจริง

อนุสนธิข่าวเมื่อวานซืนนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังกล่าวถึงโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งตั้งเป้าจัดทำ “ตำบลนมแม่เพื่อสายใยรัก” ให้ได้ 146 แห่ง โดยส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดทั้งชาวไทยและมุสลิม เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 100 เปอร์เซ็นต์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding) เป็นการให้ทารกหรือเด็กเล็กดูดนมจากเต้านมแม่โดยตรงผ่านกระบวนการคัดหลั่งนม (Lactation) แทนที่จะให้ทารกดื่มจากขวดนมหรือภาชนะอื่นๆ ทารกมีปฏิกิริยาของการดูดโดยไม่ต้องกระตุ้น (Suck reflex) ที่ทำให้ทารกสามารถดูดแล้วกลืนนม โดยทั่วไปแม่จะได้รับคำแนะนำให้นมลูกจากเต้านมตั้งแต่แรกคลอดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่มีการเพิ่มอาหารเสริมที่มีลักษณะแข็ง (Solid) แต่ภายหลัง แม้หลังจากให้อาหารเสริมแล้ว แม่ก็ยังสามารถให้นมลูกต่อไปอีกได้อย่างน้อย 1 - 2 ปี

น้ำนมแม่เกิดจากสารอาหาร (Nutrients) ในกระแสเลือดของแม่ และจากคลังสะสมในร่างกาย (Bodily stores) เช่น ในเซลล์ไขมัน เป็นต้น ซึ่งจะมีประมาณพอเหมาะของ ไขมัน น้ำตาล น้ำ และโปรตีน ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก การเลี้ยงลูกด้วยนมต้องใช้พลังงานเฉลี่ยวันละ 500 แคลอรี่ จึงช่วยให้น้ำหนักตัวของแม่ลดลงหลังคลอด

ส่วนประกอบของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไปตามความยาวนานของการให้นมแต่ละครั้ง และอายุของทารก ส่วนคุณภาพของน้ำนมแม่อาจลดต่ำลง หากมีการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มสารกาเฟอีน สูบกัญชายาฝิ่นหรือเฮโรอีน หรือเสพยาบ้า (Methamphetamine) และยาเสพติดระงับปวด (Methadone) อย่างไรก็ตาม

ควรชั่งน้ำหนักให้สมดุลระหว่างความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำนมแม่กับความกังวลเกี่ยวกับน้ำนมเทียม (Artificial milk) อันที่จริงการป้อนน้ำนมเทียม มีความสัมพันธ์กับการตายจากอุจจาระร่วงของทารกทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว

นมแม่เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของทารก ยกเว้น 2 – 3 กรณี อาทิเมื่อแม่ติดเชื้อไวรัส HIV, ต้องกินยาต้านไวรัส ARV (= Antiretrovirus) อยู่ หรือเป็นวัณโรค (Tuberculosis) อยู่และไม่ยังไม่ได้รับการบำบัดรักษา การดื่มนมจากเต้าของแม่ เป็นการส่งเสริมสุขภาพและช่วยปกป้องเชื้อโรคของลูก

มีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ค้นพบผลประโยชน์มากมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาทิ การศึกษาที่สรุปผลในปี พ.ศ. 2550 ของสำนักวิจัยและคุณภาพของการบริบาลสุขภาพ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for Healthcare Research and Quality: AHRQ) และรายงานของ WHO ในปีเดียวกัน

ผลประโยชน์ต่อทารก ได้แก่ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่มากกว่า อัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่า กลุ่มอาการทารกตายกะทันหันที่ลดลง ภาวะอ้วน [น้ำหนักเกิน] ในเด็กที่น้อยกว่า แนวโน้มที่ลดลงของการวิวัฒนาโรคภูมิแพ้ โรคอักเสบฉับพลันในลำไส้ทารกที่ลดลง และผลกระทบในระยะยาว อาทิ ความเสี่ยงที่ลดลง ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และโรคหลอดเลือดหัวใจ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นวิธีประหยัดต้นทุนที่สุด ในขณะที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ (Nourishment) สูงตามธรรมชาติ ผลประโยชน์ต่อแม่ได้แก่ สายใยรัก (Bonding) การหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ชะลอภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ และผลกระทบในระยะยาว อาทิ ความเสี่ยงที่ลดลงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ และ โรคหลอดเลือดหัวใจ การฟื้นฟูของมวลกระดูก (bone re-mineralization) ภาวะผิดปกติต่างๆจากการสันดาป/ความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic syndrome) การตกเลือดหลังคลอด (Post-partum bleeding) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เดินหน้าสนองนโยบายรัฐ พัฒนางานสาธารณสุขปี -55 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157287&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 17].
  2. Breastfeeding. http://en.wikipedia.org/wiki/Breastfeeding [2011, December 17].