นกพิราบนำโรค (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

นกพิราบนำโรค-4

      

      อาการของโรคนี้มักเกิดใน 7-14 วัน หลังการติดเชื้อ ซึ่งได้แก่

  • เสมหะเป็นเลือด (Bloody sputum)
  • ไอแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นไข้
  • สั่น
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดศีรษะและข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณศีรษะและคอ
  • หายใจลำบาก

      ในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้อวัยวะภายในอักเสบ เช่น สมอง ตับ หัวใจ ปอด ทั้งนี้ โรคอื่นที่มีอาการคล้ายโรคพสิเตอโคสิส ได้แก่

  • โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่แพร่จากสัตว์สู่คน เราสามารถติดเชื้อนี้ได้หากดื่มนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ ชีส หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ และอาจมีการติดเชื้อผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรงได้แต่พบได้น้อย
  • โรคทูลาริเมีย (Tularemia) หรือ โรคไข้กระต่าย (Rabbit fever) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีสาเหตุจากเชื้อแบคที่เรียชื่อ Francisella tularensis โรคนี้ติดต่อสู่คนโดยถูกเห็บ หรือแมลงดูดเลือดกัด สูดดมละอองเชื้อ กินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • โรคติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ ลิ้นหัวใจ และหลอดเลือด (Infective endocarditis)
  • ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
  • วัณโรค (Tuberculosis)
  • โรคปอดบวม (Pneumonia)
  • โรคไข้คิว (Q fever) เป็นโรคติดต่อในสัตว์และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

      ในส่วนของการป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือทำกิจกรรมในบริเวณที่มีนก และไม่ควรให้อาหารแก่นกพิราบ เพราะอาหารมนุษย์จะไม่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับนก นอกจากนี้การให้อาหารเลี้ยงยังทำให้นกพิราบเข้ามาอยู่ในบริเวณนั้นๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และเป็นการทำลายพฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติของนกเอง

      สำหรับการทำความสะอาดขี้นกพิราบ ควรระวังการสัมผัสโดยตรง และหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้หมักหมม เพราะจะเป็นที่แพร่เชื้อโรคได้ โดยเฉพาะคนที่มีระบบภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น คนที่ติดเชื้อเฮชไอวีหรือเชื้อเอดส์ ไม่ควรมีหน้าที่ทำความสะอาดขี้นกเลย และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ใส่อุปกรณ์เสื้อผ้าที่ป้องกัน เช่น รองเท้า ถุงมือ หน้ากากอนามัย
  • หากมีการใช้ที่ฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อฉีดไล่ขี้นกแห้ง ต้องหมั่นใจว่าสามารถควบคุมการฟุ้งของฝุ่นได้ เช่น ราดน้ำให้เปียกก่อน เพื่อป้องกันการสูดดมและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ทั้งยังช่วยป้องกันฝุ่นไม่ให้กระจายออกไปนอกพื้นที่ หรือราดน้ำให้เปียกแล้วจึงแซะขี้นกออกก่อนนำไปใส่ถุงทิ้งขยะ และฉีดน้ำไล่อีกที
  • ผู้ที่ทำงานอยู่ใกล้บริเวณที่มีขี้นกควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดเอาเชื้อจากขี้นกเข้าสู่ร่างกาย
  • ห้ามสัมผัสโดยตรงกับซากนกที่ตาย ให้ใส่ถุงมือและสวมหน้ากากป้องกันก่อนเก็บซากนก

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Pigeons. http://www.bphc.org/whatwedo/infectious-diseases/Infectious-Diseases-A-to-Z/Pages/Pigeons.aspx [2018, October 18].
  2. Diseases Spread by Pigeons. https://www.pantherpestcontrol.co.uk/bird-control/diseases-spread-by-pigeons/ [2018, October 18].
  3. Pigeon-Related Diseases.https://www1.nyc.gov/site/doh/health/health-topics/pigeon.page [2018, October 18].
  4. Parrot Fever (Psittacosis). https://www.healthline.com/health/psittacosis [2018, October 18].