ท้องเสียในเด็ก (Acute diarrhea in children)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก ท้องเสีย, ท้องร่วง, ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง หมายถึง/คือ

  • การถ่ายอุจจาระเหลวปนน้ำ หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน
  • หรือ ถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียง 1 ครั้ง
  • หรือ ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากๆเพียง 1 ครั้งต่อวัน

โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการตายในเด็กทั่วโลก โดยปกติเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี

*อนึ่ง:

  • ‘โรคท้องเสียในเด็กในบทความนี้’ ขอกล่าวถึงเฉพาะโรคท้องเสียที่พบได้บ่อยคือ “โรคท้องเสียเฉียบพลันในเด็ก (Acute diarrhea in children)” และในบทความนี้ขอเรียกสั้นๆว่า “ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง”
  • ‘โรคท้องเสียเฉียบพลัน’ หมายถึง อุจจาระร่วงที่มีอาการถ่ายผิดปกตินานไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่มักจะหายภายใน 7 วัน

ในทารกแรกเกิดที่กินนมแม่ จะถ่ายอุจจาระเนื้อนิ่มและวันละหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นปกติ การที่จะวินิจฉัยท้องร่วงในทารกต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปจากปกติ, การมีไข้ร่วมด้วย, ภาวะขาดน้ำในทารก เป็นต้น

ปีพ.ศ. 2554 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้ รับรายงานโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 1,323,105 ราย โดยอัตราป่วย 2,068 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 55 ราย อัตราตาย 0.09 ต่อประชาชนแสนคน อัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบ พลันในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเนื่องการดูแลรักษาที่ดีขึ้น

ท้องเสียในเด็กเกิดได้อย่างไร?

ท้องเสียในเด็ก

ท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กแบ่งเป็น 2 ชนิด/แบบ คือ ชนิดถ่ายเป็นน้ำ, และชนิดถ่ายเป็นมูกปนเลือด

ก. ถ่ายเป็นน้ำ (Watery diarrhea or non-invasive diarrhea): เกิดจากทั้งจากตัวเชื้อโรค/เชื้อเองและ/หรือจากตัวสารพิษของเชื้อโรค (Toxin/สารชีวพิษ) ทำให้สมดุลการดูดซึมเกลือแร่และน้ำเปลี่ยนไป โดยเชื้อหรือสารพิษแต่ละชนิดก็จะมีกลไกที่ทำให้เกิดท้องเสียต่างกัน เช่น

  • เชื้ออหิวาตกโรค สารพิษของมันทำให้เกิดการหลั่งสารโซเดียม สารคลอไลด์ (Chloride) ออกมาพร้อมกับดึงน้ำออกมาจากร่างกายด้วย จึงเกิดภาวการณ์หลั่งสารน้ำออกมาในทางเดินอาหารมากกว่าปกติ
  • หรือในโรคติดเชื้อไวรัส ไวรัสก็เข้าไปทำลายการทำงานของผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมอาหารบกพร่อง และทำให้การสร้างเอมไซม์ในการย่อยสารในน้ำนมลดลง เป็นต้น และเนื่องจากการท้องเสียชนิดนี้ไม่ได้ทำลายผนังลำใส้ อุจจาระจึงไม่มีมูกเลือดเกิดขึ้น

ข. ถ่ายเป็นมูกปนเลือด (Mucous bloody diarrhea): เกิดจากเชื้อโรคทำลายผนังลำใส้ (Mucosa ) โดยเมื่อเชื้อผ่านลำไส้เล็กก็ยับยั่งการดูดซึมน้ำและเกลือแร่ และเมื่อเชื้อผ่านมาถึงลำใส้ใหญ่จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณผนังลำไส้ จึงทำให้มีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือด อา การปวดเบ่ง เป็นต้น ตัวอย่างเชื้อโรค เช่น โพรโทซัว (เช่น เอ็นทาโมอีบา ฮีสโตไลติกา/Entamoeba histolytica/โรคบิดมีตัว) เชื้อจะเข้าไปอยู่ในผนังลำใส้ใหญ่ทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุลำใส้ จึงมีอาการถ่ายอุจาระที่ละน้อยๆปวดเบ่งและมีมูกเลือดปน เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคท้องเสียในเด็ก?

อาการท้องเสีย/ท้องร่วงเฉียบพลันที่พบในเด็กมีหลายสาเหตุ แต่เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและจากสารพิษของแบคทีเรีย (Toxin) โดยสาเหตุหลักคือการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงเฉียบพลันมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus, โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา) ซึ่งเป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงเฉียบพลันในวัยเด็กที่มีอุบัติการณ์สูงถึง 50 % ของท้องเสียในเด็กทั้งหมด

ในปัจจุบันมีการรายงานถึงไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในลักษณะเดียวกันเพิ่ม ขึ้นเช่น เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), โนโรไวรัส (Norovirus), แอสโตรไวรัส (Astrovirus), เนื่องจากมีการให้วัคซีนโรต้ามากขึ้น จึงทำให้พบการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงกว่าแต่ก่อน

สาเหตุรองลงมาเช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว พยาธิต่างๆ สารพิษ ยา หรือโรคที่เกี่ยวกับการดูดซึมลดลงของทางเดินอาหาร

สาเหตุจากแบคทีเรียที่พบบ่อยเช่น อี โคลาย (E. coli) , ซานโมเนลลา (Salmonella, โรคไทฟอยด์) , ชิเกลลา (Shigella, โรคบิดไม่มีตัว), แคมไพโรแบคเตอร์ (Campyrobacter)

สาเหตุจากโปรตัวซัวเช่น เอ็นทาโมอีบา ฮีสโตไลติกา (โรคบิดมีตัว), ไกอาร์เดียแลมเบลีย (Giardialamblia/ โรค เจียอาร์ไดอาซิส) เป็นต้น

สาเหตุอื่นๆเช่น ภาวะลำใส้อักเสบ การรับประทานวิตามินบางชนิดมากเกินไปเช่น วิตา มินซีก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ การรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาระบาย/ยาแก้ท้อง ผูก ยาแก้อักเสบ/ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือ การแพ้อาหาร การแพ้นมวัว ก็เป็นสาเหตุที่พบได้เช่นกัน

สาเหตุที่พบไม่บ่อยเช่น ลำไส้กลืนกัน (Intestinal volvulus, ลำไส้เล็กเข้าไปซ้อนกัน), ใส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดท้องเสียในเด็ก?

จากการศึกษาโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กส่วนใหญ่ มักเกิดกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกำลังจะเลิกนมแม่, เด็กที่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แม่เลี้ยง และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไม)

ท้องเสียในเด็กมีอาการอย่างไร?

อาการท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กขึ้นกับสาเหตุดังนี้เช่น

ก. ไวรัส โรต้า (Rota virus: โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา): มักมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1 ถึง 2 วัน ส่วนใหญ่มีอาการไข้และอาเจียนเป็นอาการเด่น/อาการหลัก ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ มีลมหรือมีฟองในอุจจาระ อุจจาระอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว โดยอุจาระมีลักษณะเป็นกรด จึงทำให้ระคายเคืองผิวบริเวณรอบๆทวารหนัก

ข. ซานโมเนลล่า (Salmonella: โรคไทฟอยด์): อาการมักเริ่มด้วยไข้สูงปานกลางถึงมาก เด็กร้องกวน ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายอุจาระเป็นน้ำสีเหลือง กลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า และต่อ มาอุจจาระอาจมีมูกเลือดปนได้ เชื้อชนิดนี้อาการรุนแรงเพราะสามารถผ่านเข้าสูงกระแสเลือดได้ และสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ได้

ค. ชิเกลล่า (Shigella: บิดไม่มีตัว): เด็กมักมีไข้สูง เด็กบางคนมาพบแพทย์ด้วยอา การชัก ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด มีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า อุจจาระออกมาทีละนิด แต่บ่อย ครั้ง

ง. อี โคไล (E.coli): เป็นเชื้อแบคทีเรีย แบ่งเป็นชนิดย่อยได้ 5 ชนิด อาการรุนแรงตามชนิดของเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล โดยอาการจะคล้ายๆกับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ สามารถวินิจัยได้โดยการตรวจอุจจาระ ตัวอย่างอาการที่พบบ่อยเช่น มีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน อ่อนเพลีย อาจอุจจาระเป็นมูกเลือดได้

จ. วิบริโอ คลอเรียร่า (Vibrio cholera: อหิวาตกโรค): เด็กจะถ่ายเป็นน้ำสีขาวคล้ายน้ำซาวข้าวครั้งละมากๆ เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้

ฉ. วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus/ อหิวาต์เทียม): เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เด็กจะมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ปวดท้องมาก อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำและอาจจะมีไข้ตามมาได้

ช. แคมไพโรแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter jejuni): เป็นเชื้อแบคทีเรีย เด็กมักมีไข้ต่ำๆ ถ่ายเป็นน้ำหรือในบางรายอาจจะมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

ควรรีบพาเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อเด็กมีอาการขาดน้ำ เช่น

  • เยื้อบุช่องปากและลิ้นแห้ง (ปากคอแห้ง)
  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะออกน้อย
  • ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • กระบอกตาลึกโบ๋
  • กระหม่อมหน้าบุ๋ม (ในเด็กอ่อนที่กระหม่อมยังไม่ปิด)
  • ผิวหนังเย็น
  • ชีพจรเต้นเร็ว

*ทั้งนี้เมื่อมีอาการใดอาการหนึ่ง ก็ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ

อนึ่ง โดยทั่วไปที่ควรพาเด็กเล็กไปพบแพทย์/โรงพยาบาลเมื่อมีอาการท้องเสีย/ท้องร่วง คือ

  • อาการท้องร่วงนานเกิน 3 วัน
  • มีอาการปวดท้องอย่างมาก
  • มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • มีเลือดในอุจาระหรืออุจาระดำเหมือนถ่าน
  • อาเจียนมากไม่สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่ทดแทนได้

แพทย์วินิจฉัยโรคท้องเสียในเด็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจดูลักษณะของอุจาระ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจอุจจาระ และแพทย์จะแยกหาสาเหตุเร่งด่วนที่ต้องรักษาทางศัลยกรรมก่อน แล้วจึงแยกสาเหตุจากการติดเชื้อต่างๆ

ยกตัวอย่างสิ่งที่แพทย์ใช้เป็นพื้นฐานแยกสาเหตุโรคเช่น

  • ไวรัสโรต้า (Rota virus: โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา): มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี พบบ่อยในช่วงหน้าหนาว มักมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1 ถึง 2 วัน
  • ซานโมเนลล่า (Salmonella: โรคไทฟอยด์): ส่วนใหญ่พบในทารกแรกเกิดถึงอายุหกเดือน พบได้ทุกฤดูกาล ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 5 ชั้วโมงถึง 5 วัน
  • ชิเกลล่า (Shigella: บิดไม่มีตัว): มักพบในเด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป
  • อี โคไล (E.coli): สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจอุจจาระ
  • วิบริโอ คลอเรียร่า (Vibrio cholera: อหิวาตกโรค): พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด และสามารถเป็นโรคระบาดได้ โดยเกิดอาการหลังได้รับเชื้อ 12 - 24 ชั้วโมง
  • วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahemolyticus): พบในเด็กโตซึ่งมักได้รับเชื้อจากอาหารทะเล
  • แคมไพโรแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter jejuni): พบได้ในเด็กทุกอายุ ทั้งแบบมีอาการและเมื่อเด็กเป็นพาหะของโรค

รักษาโรคท้องเสียในเด็กอย่างไร?

หลักในการรักษาโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็ก โดยแพทย์จะประเมินเด็กจากภาวะขาดน้ำ เพื่อให้สารน้ำทดแทน และการให้ยารักษาตามอาการ

ในกรณีที่เด็กสามารถรับประทานได้ สามารถให้ยาผงกลือแร่ (ORS) กลับไปรับประทานที่บ้านได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีกินผงละลายเกลือแร่ในเด็ก)

แต่ถ้าเด็กมีอาเจียนมากหรือมีภาวะขาดน้ำระดับปานกลางถึงมาก แพทย์จะรับไว้ในโรง พยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและปรับสมดุลเกลือแร่ในเลือด

การรักษาตามอาการคือ ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้เช่น พาราเซตามอล (Paraceta mol) และการเช็ดตัว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)

  • ถ้ามีอาเจียนให้รับประทานยาแก้อาจียนเช่น โมทิเลียม (Motilium)
  • ถ้ามีอาการปวดท้อง ปวดบิด/ปวดบีบ ให้ยาลดการบีบตัวของลำใส้เช่น บัสโคแปน (Bus copan)
  • กรณีรอบทวารหนักแดงจากอุจาระเป็นกรด ให้ทายาซิงค์เพลส (Zinc paste) เพื่อป้อง กันอุจจาระระคายเคืองผิวรอบปากทวารหนัก
  • กรณีมีเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ต้องให้สารน้ำและเกลือแร่เพื่อปรับสมดุลเกลือแร่ การ ใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะพิจารณาเป็นรายๆไปเช่น ในการติดเชื้อบางชนิดในเด็กเล็ก หรือในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า การให้ยาปฎิชีวนะไม่ได้ช่วยให้ระยะเวลาการท้องร่วงลดลง
  • การใช้เชื้อแบคทีเรียชนิดดี (Probiotic) มีการศึกษาวิจัยในเชื้อบางชนิดพบว่า ช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรง ช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นโดยเฉพาะจากการติดเชื้อเชื้อโรต้าไวรัส

การพยากรณ์โรคท้องเสียในเด็กเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กส่วนใหญ่ เด็กจะดีขึ้นภายในเวลา 3 - 5 วันหลังการรักษา ไข้ลดลง อาเจียนลดลง ลักษณะอุจจาระจะค่อยๆมีเนื้อเพิ่มมากขึ้น โดยปกติไม่เกิน 7 วันมักจะหาย นอกจากมีภาวะอื่นแทรกซ้อนเช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงหรือ ภาวะขาดน้ำที่รุนแรงที่อาจทำให้เด็กเสียชีวิต ได้โดยเฉพาะในเด็กอ่อน(นิยามคำว่าเด็ก)

โรคท้องเสียในเด็กก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) ที่สำคัญที่เกิดจากโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กได้แก่

ก. Lactose intolerance (ภาวะกระเพาะอาหาร – ลำไส้ย่อยน้ำตาลแล๊กโตสไม่ได้/ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส): เนื่องจากเอนไซม์แล๊กเตส/แลคเตส (Lactase) บนเยื่อบุลำไส้มีปริมาณน้อยลงหลังท้องเสีย จากการทำลายของเชื้อโรคโดยเฉพาะโรตาไวรัส ทำให้มีน้ำตาลแล๊กโตสในนมเหลือตกค้างในลำใส้และเป็นตัวดึงน้ำทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำได้ เด็กจะมีอาการท้องอืด ถ่ายเป็นน้ำปนฟอง กลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาจมีมูกปนได้

ข. ภาวะแพ้โปรตีนจากนมวัว/แพ้นมวัว (Secondary cow’s milk protein allergy): อาการเช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ขึ้นผื่น อาการมักเกิดประมาณ 1 สัปดาห์หลังดื่มนมวัว) พบบ่อยในทารกอายุ 6 เดือนแรก เกิดภายหลังการติดเชื้อโรคท้องเสียเพราะเยื้อบุลำใส้ถูกทำลาย ทำให้โปรตีนจากนมวัวซึมผ่านได้มากขึ้น โปรตีนเหล่านี้กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองทางกลไกภาวะแพ้ ควรสงสัยภาวะนี้เมื่อทารกกินนมวัวสูตรไม่มีแล็กโตสแล้วยังมีอาการอยู่

ดูแลเด็กที่บ้านอย่างไร?

การดูแลเด็กที่บ้านเมื่อเด็กท้องเสีย/ท้องร่วงได้แก่

  • ควรให้กิน/ดื่มยาผงเกลือแร่ โออาร์เอส (ORS: Oral rehydrating solution): เพื่อทด แทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปจากการถ่ายอุจจาระและจากอาเจียนซึ่งหาซื้อยาได้ตามร้านขายยา ทั่วไป การผสมน้ำควรเป็นน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง หรือถ้าต้องผสมน้ำเกลือแร่ใช้เองคือ ใช้เกลือแกง 1 ช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสุก/น้ำต้มเดือดที่ทิ้งไว้ให้เย็นประมาณ 750 ซี.ซี (c.c., cubic centimeter) โดยปริมาณน้ำเกลือแร่ที่กินให้ประเมินจากภาวะขาดน้ำ ซึ่ง
  • ถ้ามีอาการขาดน้ำน้อยให้รับประทานประมาณ 50 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมภายในสี่ชั้วโมงแรก
  • และในรายที่ขาดน้ำปานกลางให้เด็กกินประมาณ 100 ซีซีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมในสี่ชั้วโมงแรก และต่อจากนั้นให้กินน้ำเกลือแร่ทดแทนตามปริมาณอุจจาระที่ถ่ายไปรวมกับปริมาณน้ำที่อา เจียนออก ไม่แนะนำให้กินน้ำอัดลมผสมเกลือแทน โอ อาร์ เอส เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง (Osmolarity) อาจทำให้ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้นได้
  • การให้อาหาร: ควรให้อาหารเด็กเร็วที่สุดเท่าที่เด็กรับได้ เพราะทำให้หายจากโรคอุจจาระร่วงเร็วขึ้น โดยทั่วไปประมาณ 4 ชั้วโมงหลังจากที่แก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว ควรให้อาหารที่ย่อยง่ายเพราะการติดเชื้อในลำไส้มักทำให้เกิดภาวะดูดซึมผิดปกติ อาหารที่แนะนำเช่น โจ๊ก มักกะโรนีต้มเปื่อย ข้าวต้มเปื่อยผสมเนื้อไก่บดหรือเนื้อปลาต้มสุก แกงจืด เป็นต้น ควรต้องงดอาหารประเภทผัดหรือทอด งดขนมและผัก - ผลไม้ก่อน
  • ในเด็กทารกที่กินนมแม่ควรให้กินต่อไป ส่วนทารกที่กินนมผสมควรให้กินในความเข้มข้นปกติแต่ลดปริมาณลง และชดเชยด้วยการเพิ่มจำนวนมื้อมากขึ้น
  • ส่วนในเด็กโตควรลดปริมาณนมลงหรือหยุดกินนมชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดเอน ไซม์ในการย่อยน้ำตาลในนม/ภาวะขาดแลกเทส (Lactose intolerance)

*อนึ่ง ควรให้การดูแลลักษณะนี้จนกว่าเด็กจะหยุดท้องเสียและกลับมามีอาการปกติ จึงค่อยๆปรับกลับมากินอาหารตามปกติ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพาเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆของเด็กไม่ดีขึ้น ยังถ่ายปริมาณมากหรือมีมูกเลือดปนมากขึ้น
  • เด็กยังมีภาวะขาดน้ำอยู่เช่น ปัสสาวะออกน้อย ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปากแห้ง ตาลึกโบ๋ ชีพจรเต้นเร็ว
  • เด็กมีไข้สูงตลอด ไข้ไม่ลง
  • เด็กอาเจียนมาก
  • พ่อแม่ผู้ดูแลเด็กกังวลในอาการเด็ก

ป้องกันโรคท้องเสียในเด็กได้อย่างไร?

ป้องกันโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในเด็กได้โดย

  • ส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารสุกๆดิบๆหรืออาหารที่มีแมลงวันตอม
  • หากจะเก็บอาหาร ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และต้องอุ่นให้ร้อนก่อนให้เด็กรับประทานทุกครั้ง
  • ผักสดหรือผลไม้ ก่อนให้เด็กรับประทาน ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหรือล้างด้วยด่างทับทิมละลายน้ำ
  • กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของแมลงวัน
  • ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • ผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากการใช้ห้องน้ำ
  • สอนเด็กให้รู้จักล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
  • ดื่มน้ำและสอนเด็กให้ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
  • รับประทานอาหารและสอนเด็ก/ดูแลเด็กให้รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ
  • ผู้ดูแลเด็กควรต้องรู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • สอนเด็กให้รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • การฉีดวัคซีน: ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียบางโรคเช่น จากโรตาไวรัสซึ่งวัคซีนป้องกันโรตาไวรัสสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลลง 40% จากผู้ป่วยทั้งหมด จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้

บรรณานุกรม

1. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาสาธารณสุข. สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2553 . กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

2. ไพโรจน์ จงบัญญัติเจริญ.Gastrointestinal infection in children. ใน:สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล,เกศรา อัศดามงคล,มาเรียว ริกันติ,สมชาย สันติวัฒนากุล, บรรณาธิการ. ภาวะติดเชื้อ: Molecular/cellular and clinical basis.กรุงเทพ: เม็ดทรายพริ้นติ้ง; 2547.น.1359-69

3. เสกสิต โอสถากุล.ท้องร่วง(diarrhea). ใน:สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล,กมลวิช เลาประสพวัฒนา,มณีรัตน์ ภูวนันท์,นครินทร์ ตนคลัง,บรรณาธิการ.กุมารเวชาสตร์ผู้ป่วยนอก.สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์; 2555.น.447-452

4. world health organization. the treatment of diarrhoea: a manual for physicians and other senior health workers. 4 th rev. geneva: WHO document production services.

5. Glass RI,Parashar UD,Bresee JS,Turcios R,Fischer TK,Widdowson MA,et al.Rotavirus vaccines:current prospects and future challenges.Lancet.2006;368:323-32