ท้องเสียจากโนโรไวรัส (Norovirus diarrhea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ท้องเสียจากโนโรไวรัส หรือ ท้องเดินจากโนโรไวรัส หรือ ท้องร่วงจากโนโรไวรัส (Norovirus diarrhea) หรือ โรคติดเชื้อโนโรไวรัส(Norovirus infection) หรือ โรค Non bacterial gastroenteritis เป็นโรคท้องเสียที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน ภายใน 12ชั่วโมงถึง 1-2วันหลังการได้รับเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยอาการหลัก คือ “คลื่นไส้ อาเจียน, ท้องเสียเป็นน้ำ, และปวดท้องแบบปวดบีบ” ทั้งนี้ โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มของโรคอาหารเป็นพิษ(Food poisoning หรือ Foodborne disease หรือ Foodborne illness) และ โนโรไวรัสนี้ ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคท้องร่วง/ท้องเสียที่พบเห็นในการท่องเที่ยวเดินทาง ที่เรียกว่า Traveler’s diarrhea

โนโรไวรัส (Norovirus ย่อว่า NV) เป็นไวรัสขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 27 นาโนเมตร(nm/Nanometre) มีชื่ออื่น คือ Norwalk virus หรือ Norwalk like virus เป็นไวรัสที่มีโฮสต์/ตัวให้อาศัย/Host คือ คน หมู วัว ควาย หนู และมีรังโรค คือ คน และหอย

โนโรไวรัส แบ่งได้เป็น 6 ชนิด/กลุ่ม/กรุ๊ปย่อย(Genogroup) คือ GI,GII,GIII, GIV, GV, และ GVI โดยกรุ๊ปย่อยที่ก่อโรคในคน คือ GI, GII, และ GIV ไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปนอกร่างกายโฮสต์ในอุณหภูมิห้องได้นานถึงประมาณ 21-28 วัน ซึ่งไวรัสนี้ตายในอุณหภูมิ/ความร้อนสูงตั้งแต่ 71.3 องศาเซลเซียส(Celsius)ในเวลานานอย่างน้อย 1 นาที หรือจากน้ำยาฆ่าเชื้อ Sodium hypochlorite นาน 10-20 นาที, น้ำยาฆ่าเชื้อ Peracetic acid หรือ Glutaraldehyde นาน 5 นาที

โรคท้องเสียจากโนโรไวรัส เป็นโรคพบได้บ่อยทั่วโลก ประมาณ 20% ของคนที่ป่วยด้วยท้องเสียเฉียบพลันทั้งหมด พบโรคได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน โรคนี้เป็นโรคพบได้ตลอดทั้งปี แต่พบได้สูงสุดในช่วงฤดูหนาวที่ไวรัสนี้จะแพร่กระจายได้ดี โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “Winter vomiting disease” และเรียกโนโรไวรัสอีกชื่อว่า “Winter vomiting bug”

ท้องเสียจากโนโรไวรัสเกิดและติดต่อได้อย่างไร?

ท้องเสียจากโนโรไวรัส

ท้องเสียจากโนโรไวรัส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัส(ดังกล่าวในบทนำ) โดยเป็นการติดต่อผ่านทาง

  • ทางปากจากเชื้อที่ปนอยู่ในอุจจาระ และ/หรืออาเจียนของผู้ป่วยที่เรียกการติดต่อชนิดนี้ว่า Fecal-Oral route หรือ Oral-Fecal route ซึ่งมักเป็นการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรง หรือ จาก อาหาร เครื่องดื่ม หรือจากมือ ที่ปนเปือนอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย และ/หรือสัมผัสกับสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆที่สัมผัสกับผู้ป่วย(อุจจาระ/อาเจียน)ที่มักติดมาจากมือและ/หรือปากของผู้ป่วย และมาติดค้างอยู่ตามสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่นต่างๆ โทรศัพท์ ราวบันได
  • ผ่านทางละอองฝอยจากอาเจียนที่ปนอยู่ในอากาศที่เรียกว่า Aerosolozed วิธีนี้พบได้น้อย แต่ก็มีรายงานว่า สามารถเกิดได้

อนึ่ง ที่โรคนี้ระบาด/ติดต่อได้ง่ายละรวดเร็ว เพราะในอุจจาระของผู้ป่วย จะมีเชื้อไวรัสนี้ที่แพร่ระบาดได้ ตั้งแต่ร่างกายได้รับเชื้อ และเชื้ออาจอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้นาน 1-2 สัปดาห์หลังหยุดถ่ายท้องแล้ว รวมถึงยังมีกลุ่มบุคคลประมาณ 30%ที่ได้รับเชื้อนี้แต่ไม่มีอาการสูง ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ทั้งหมดล้วนเป็นพาหะโรคนี้ได้ทั้งสิ้น

ท้องเสียจากโนโรไวรัสมีอาการอย่างไร?

อาการท้องเสียจากโนโรไวรัส มักเกิดอาการภายหลังได้รับเชื้อ(ระยะฝักตัว)ภายใน 12ชั่วโมงถึง 2 วัน หลังได้รับเชื้อ โดยอาการหลัก คือ

  • ท้องเสียเป็นน้ำเฉียบพลัน วันละ มากกว่า 3-4 ครั้งขึ้นไป
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องแบบปวดบีบ

อาการอื่นที่ พบร่วมด้วยได้ เช่น

  • มีไข้ต่ำๆ
  • อาการหนาวสั่น
  • ปวดกล้ามเนื้อบริเวณ ลำตัว แขน ขา และ/หรือ กล้ามเนื้อหลัง
  • อ่อนเพลีย
  • ภาวะขาดน้ำ เมื่อ อาเจียน และ/หรือท้องเสีย รุนแรง หรือ เมื่ออาการเกิดในผู้ป่วย เด็กเล็ก ในผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งมักเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า “ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง”

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดท้องเสียจากโนโรไวรัส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดท้องเสียจากโนโรไวรัส คือ

  • ผู้ที่อยู่กันอย่างแออัด เช่นสถานพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ค่ายทหาร
  • กินอาหารสุกๆดิบๆ กินหอยโดยเฉพาะสุกๆดิบๆ ผู้สัมผัสกับของใช้สาธารณ เช่น ราวบันไดเลื่อน ของเล่นเด็กในสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
  • กินอาหาร ดื่มน้ำ ที่ขาดสุขอนามัย เช่น อาหารข้างทาง
  • ไม่ชอบล้างมือ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และ/หรือ หลังเข้าห้องน้ำ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการท้องเสีย ร่วมกับอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ และอาการเลวลง หรืออาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันหลังการดูแลตนเอง โดยเฉพาะในผู้เป็น “กลุ่มเสี่ยง” ดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” เกิดความรุนแรงจากโรคนี้/เกิดภาวะขาดน้ำ ควรต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน

แพทย์วินิจฉัยท้องเสียจากโนโรไวรัสอย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยท้องเสียจากโนโรไวรัสได้จาก ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค สถานที่อยู่อาศัย สถานศึกษาของผู้ป่วย ฤดูการ รวมถึงประวัติการระบาดของโรคนี้ในขณะนั้น ในบางครั้งอาจมีการตรวจอุจจาระ และ/หรือการตรวจเชื้อจากอุจจาระ ซึ่งทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

รักษาท้องเสียจากโนโรไวรัสอย่างไร?

แนวทางการรักษาท้องเสียจากโนโรไวรัสคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เพราะยังไม่มียาต้านโนโรไวรัส และใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลเพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสนี้ได้

การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญที่สุด คือ การดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างพอเพียงกับน้ำที่เสียไปจากอาเจียนและจากการท้องเสีย รวมถึงเกลือแร่ด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องดื่มน้ำเกลือแร่(ยา ORS) ร่วมด้วย และถ้ามีอาการ ปวดท้อง มีไข้ และ/หรือ ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเนื้อตัว ให้รับประทานยา Paracetamol ส่วนอาหาร คือ อาหารอ่อน หรืออาหารเหลว(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) นอกจากนั้น อีกประการที่สำคัญ คือ พักผ่อนให้เต็มที่ และควรต้องหยุดเรียน/หยุดงาน จนกว่าจะหยุดอาการท้องเสียแล้วนาน 48 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังต้องรู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) และการแยกของใช้ต่างๆ โดยเฉพาะ แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ที่อาจสัมผัสอุจจาระ/อาเจียนของผู้ป่วย

อนึ่ง โดยทั่วไป การกินยาหยุดท้องเสีย/ยาแก้ท้องเสีย มักไม่ช่วยในการรักษาโรคนี้ ดังนั้นโดยทั่วไปแพทย์จึงแนะนำว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาแก้ท้องเสีย

ท้องเสียจากโนโรไวรัสมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากท้องเสียจากโนโรไวรัสคือ ภาวะขาดน้ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com) โดยเฉพาะหากโรคเกิดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวในหัวข้อ “อาการ “

ท้องเสียจากโนโรไวรัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของท้องเสียจากโนโรไวรัส คือ โดยทั่วไปเป็นโรครักษาให้หายได้เองที่บ้าน ภายใน 1-3 วันโดยการดูแลตนเองดังกล่าวในหัวข้อ”การรักษาฯ”

อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้มีอาการท้องเสียรุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ซึ่งมีรายงานเกิดได้ประมาณ 0.5%

อีกประการ เมื่อเกิดโรคนี้แล้ว ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ โรคนี้จึงกลับเป็นซ้ำได้เสมอ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสนี้ซ้ำอีก

ดูแลผู้ป่วย ดูแลตนเอง อย่างไร?

การดูแลตนเอง/ดูแลผู้ป่วยท้องเสียจากโนโรไวรัส เมื่อยังไม่ได้พบแพทย์ คือ

  • หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าจะหยุดท้องเสีย อย่างน้อย 2 วัน
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงกับน้ำที่เสียไปจากการอาเจียน และจากอุจจาระ
  • ดื่มน้ำเกลือแร่/ORS ให้พอเพียงกับเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียนและอุจจาระ
  • กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • กินยา Paracetamol ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว และ/หรือ ปวดท้อง
  • ผู้ป่วยควร อาเจียนลงในโถส้วม เพราะจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
  • กดน้ำหลายๆครั้งในการทำความสะอาดส้วงหลังการขับถ่าย หรือการอาเจียน
  • แยกของใช้ต่างๆ เช่น แก้น้ำ ช้อน จาน ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม
  • รีบไปโรงพยาบาล ถ้าอาการเลวลง หรืออาการไม่ดีขึ้น ใน 2-3 วัน

การดูแลตนเองหากไปพบแล้ว จะเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองเมื่อยังไม่พบแพทย์ ร่วมกับ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อป่วยด้วยท้องเสียจากโนโรไวรัสและได้พบแพทย์แล้ว ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ท้องเสีย หรือ อ่อนเพลีย มากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อุจจาระเป็นเลือด
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิติประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก หรือท้องผูกมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันท้องเสียจากโนโรไวรัสอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันท้องเสียจากโนโรไวรัส แต่สามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • เมื่อท้องเสีย ต้องหยุดงานอย่างน้อย 1-2 วันหลังหยุดท้องเสีย
  • เมื่อท้องเสียต้องไม่ปรุงอาหารให้ใครรับประทาน
  • กินอาการสุก ปรุงสุก ไม่กินอาหารปรุงสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะพวกหอยต่างๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดเสมอ ระวังความสะอาดของน้ำแข็ง
  • ล้างผัก ผลไม้ อาหารสดต่างๆให้สะอาดเสมอ
  • รักษาความสะอาดเครื่องครัวทุกชนิด โดยเฉพาะ เขียง
  • แยก แก้วน้ำ และช้อน รวมถึงรู้จักใช้ช้อนกลาง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

บรรณานุกรม

  1. https://www.cdc.gov/norovirus/[2017,Feb11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Norovirus[2017,Feb11]
  3. http://www.phac-aspc.gc.ca/fs-sa/fs-fi/norovirus-eng.php[2017,Feb11]
  4. http://www.phac-aspc.gc.ca/lab-bio/res/psds-ftss/msds112e-eng.php[2017,Feb11]
  5. https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr6003a1.html[2017,Feb11]
  6. http://cmr.asm.org/content/28/1/134.full.pdf+html[2017,Feb11]