ทิงเจอร์เมอไทโอเลต (Tincture merthiolate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ :คือยาอะไร?

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต (Tincture merthiolate) เป็นชื่อการค้าของยาทาแผลภายนอกที่ใช้ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา(โรคเชื้อรา) โดยมีตัวยาสำคัญที่ชื่อว่า ‘ไทโอเมอซอล(Thiomersal) หรือไทเมอรอซอล (Thimerosal)’ ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีสารปรอทเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ทั้งนี้ เริ่มมีการใช้ยานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1927 (พ.ศ. 2470) โดยนักเคมีที่มีชื่อว่า Morris Kharasch (เป็นชาวรัสเซียที่ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา) และจัดจำหน่ายในเวลาต่อมาโดยบริษัทยาชื่อ Eli Lilly

ปัจจุบันตัวยาไทเมอรอซอลยังถูกนำไปผสมรวมกับผลิตภัณฑ์วัคซีนที่ฉีดกระตุ้นร่างกายเพื่อป้องกันโรคจากพวกเชื้อไวรัสอีกด้วย โดยใช้เพื่อป้องกันการเสื่อมของวัคซีนนั่นเอง

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต จัดเป็นยาที่มีพิษชนิดหนึ่ง ห้ามสูดดมหรือรับประทาน หรือแม้แต่การใช้ยาทางผิวหนังก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ นอกจากนี้ส่วนประกอบที่เป็นสารปรอทยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรทิ้งยานี้ลงคูคลองตามธรรมชาติ

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต มีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำการใช้ยาได้จากแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน/ร้านขายยา

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทิงเจอร์เมอไทโอเลต

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้ทาผิวหนังผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ใช้รักษาบาดแผลในขั้นตอนการปฐมพยาบาล
  • ใช้ต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาไทเมอรอซอลในทิงเจอร์เมอไทโอเลต คือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา โดยตัวยาจะแตกตัวออกเป็นสารที่มีชื่อว่า Ethylmercury และ Thiosalicylate ซึ่งสารดังกล่าวเป็นตัวยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาน้ำทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) ขนาดความเข้มข้น 0.1 กรัม/100 มิลลิลิตร

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบางๆวันละ 1 - 3 ครั้งในบริเวณที่เป็นบาดแผลหรือใช้ตามแพทย์สั่ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น
    • การใช้ยานี้ในเด็กโตควรเป็นคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
    • แต่การใช้ยาในเด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 2 ปีควรแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา/การใช้ยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาทิงเจอร์เมอไทโอเลต สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ส่วนประกอบในตัวยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต เช่น แอลกอฮอล์ หรือ อะซีโตน และสารปรอท อาจทำให้

  • รู้สึกระคายเคืองทางผิวหนัง
  • ก่อให้เกิดอาการผื่นคัน
  • การสูดดมยานี้อย่างต่อเนื่อง สามารถทำอันตรายต่อ ระบบประสาท, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายได้, ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อเป็นคำแนะนำจากแพทย์ และใช้ยาในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

มีข้อควรระวังการใช้ทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ห้ามรับประทาน สูดดม และไม่ให้เข้าตา ด้วยตัวยาเป็นพิษต่อร่างกาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากับเด็กเล็กด้วยสารปรอทที่เป็นองค์ประกอบอาจส่งผลต่อสมองเด็กได้
  • หลังทายานี้ควรผึ่งให้ยาแห้งก่อนที่จะปิดทับด้วยผ้าพันแผล
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไทเมอรอซอล/ทิงเจอร์เมอไทโอเลต ทาร่วมกับ ยาทาประเภทยูเรีย เช่น Urea cream จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยากลุ่มยูเรียลดน้อยลงไป จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาไทเมอรอซอล/ทิงเจอร์เมอไทโอเลต ทาร่วมกับ ยาทาภายนอกที่ช่วยขัด/ย่อยผิวหนังที่ตายแล้ว เช่น Collagenase topical จะทำให้ฤทธิ์ของการย่อย/ขัดผิวหนังด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือไม่ก็ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ควรเก็บรักษาทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?

ควรเก็บยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต:

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Merthiolate (เมอไทโอเลต) Apracure
Pyrad Thimero Sahakarn (ไพเรด ไทเมอโร สหการ) The United Drug (1996)
Thimerosal Putchubun (ไทเมอรอซอล พุธชุบัน) Putchubun Dispensary
Thincture Merthiolate Srichand (ทิงเจอร์ เมอไทโอเลต ศรีจันทน์) Srichand

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/tincture%20merthiolate%20srichand [2021,Aug7]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/thimerosal-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2021,Aug7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiomersal [2021,Aug7]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB11590 [2021,Aug7]
  5. http://www.robholland.com/Nursing/Drug_Guide/data/monographframes/T029.html [2021,Aug7]
  6. https://www.colorado.gov/pacific/sites/default/files/HHW_Mercury_Hg-and-Health-FS.pdf [2021,Aug7]