ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว (ตอนที่ 1)

ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว

จากข่าวของนักเขียนผู้อาวุโสศิลปินแห่งชาติอายุ 67 ปี หรือแม้แต่เจ้าชายหนุ่มพระชนมายุเพียง 33 พรรษา ที่ล้วนจากไปด้วยเรื่องของหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ทำให้รู้สึกว่าโรคนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุที่มากเสมอไป แต่จะมีปัจจัยอะไรบ้างเรามาดูกัน

หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย (Heart failure) ไม่ได้หมายความว่าหัวใจหยุดทำงาน แต่ที่จริงแล้วหมายความว่าพลังการสูบฉีดของหัวใจอ่อนแรงกว่าปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนผ่านหัวใจและร่างกายในอัตราที่ช้า เป็นผลให้หัวใจไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารให้เพียงพอกับความจำเป็นของร่างกาย

อาจเป็นเพราะหลอดเลือดที่ตีบลง หรือความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้หัวใจอ่อนแรงหรือแข็งตัวและไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หัวใจล้มเหลวเป็นได้ทั้งแบบเรื้อรัง (Chronic) หรือแบบเฉียบพลัน (Acute) อาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ โดยอาการทั่วไป ได้แก่

  • หายใจลำบาก (Dyspnea) เมื่อต้องออกแรงหรือเมื่อล้มตัวลงนอน
  • อ่อนเพลีย เวียนศีรษะเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย
  • ขาและเท้ามีอาการบวมน้ำ (Edema)
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • ออกกำลังกายได้น้อยลง
  • ไอเรื้อรังหรือหายใจหวีด (Wheeze) มีเสมหะขาวหรือสีเลือดจางปน
  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ท้องบวมน้ำ (Ascites)
  • น้ำหนักเพิ่มเพราะของเหลวที่คั่ง
  • ไม่อยากอาหารและคลื่นไส้
  • ไม่ค่อยมีสมาธิหรือความตื่นตัวน้อยลง
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
  • เจ็บหน้าอกหากเป็นกรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack)

หัวใจล้มเหลวอาจเกิดได้ทั้งจากการที่หัวใจอ่อนแอไม่มีแรง หรือกล้ามเนื้อหัวใจแข็งไม่ยืดหยุ่น เต้นผิดปกติ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวัดความสามารถของหัวใจในการบีบเลือดออกจากหัวใจ หรือที่เรียกว่า Ejection fraction (EF) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการแยกประเภทของอาการหัวใจล้มเหลวและใช้เป็นแนวทางในการรักษา

[Ejection fraction (EF) หมายถึง เปอร์เซ็นต์ของเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจต่อการบีบตัวของหัวใจ 1 ครั้ง โดยเทียบกับปริมาณเลือดที่มีอยู่ วิธีการวัด EF ที่นิยมใช้ ได้แก่ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การตรวจหัวใจด้วยการใช้สารกัมมันตรังสี (Radionuclide angiography) และการฉีดสารทึบรังสีในห้องหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventriculography) ซึ่งในคนปกติค่านี้จะอยู่ที่ร้อยละ 50 หรือมากกว่า]

แหล่งข้อมูล

  1. Heart Disease and Congestive Heart Failure. http://www.webmd.com/heart-disease/guide-heart-failure [2015, September 25].
  2. Heart failure. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/basics/definition/con-20029801 [2015, September 25].