ทำไมต้องฆ่าตัวตาย ? (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

สัญญาณที่บอกให้รู้ว่าคนๆ นั้นมีความคิดหรือมีแผนที่จะฆ่าตัวตาย ได้แก่

  • มักพูดหรือคิดถึงความตาย
  • มีความหดหู่ซึมเศร้าอย่างมาก ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง นอนยาก และกินยาก
  • มีความปรารถนาที่จะตาย (Death wish) หรือมีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการตาย เช่น การขับรถเร็วหรือขับรถฝ่าไฟแดง
  • ขาดความสนใจในสิ่งที่เคยสนใจ
  • มีความรู้สึกว่ากำลังสิ้นหวัง หรือสิ้นหวังแล้ว หรือไร้ค่า
  • มักมีคำพูดว่า “น่าจะดีนะถ้าฉันไม่อยู่ตรงนี้แล้ว” หรือ “ฉันอยากตาย”
  • มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการเศร้าอย่างสุดๆ ไปเป็นการสงบหรือทำเหมือนมีความสุข
  • ไปเยี่ยมหรือโทรศัพท์ไปเพื่อบอกลาคนที่รู้จัก

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำอย่างแรกเมื่อพบเห็นสัญญาณดังกล่าวก็คือ ต้องให้ความสนใจกับบุคคลนั้นอย่างจริงจัง กล่าวคือ รับฟังเรื่องราวที่เขาหรือเธอกำลังพูดถึง ให้เขาหรือเธอรู้สึกว่าเราสนใจและเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

หากมีใครบางคนที่ซึมเศร้าและพูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ทำท่าฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ให้รับฟังและอย่าโต้แย้ง และพยายามหาความช่วยเหลือจากนักสุขภาพจิต

ความซึมเศร้าหดหู่มักจะทำให้คนฆ่าตัวตายสูง มีบทวิจัยบางแห่งระบุว่าสารเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาท (Neurotransmitter serotonin) เป็นตัวสำคัญในทางประสาทชีววิทยาของการฆ่าตัวตาย (Neurobiology of suicide) โดยนักวิจัยพบว่ามีการค้นพบสารเซโรโทนินต่ำในก้านสมองและน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ของคนที่ฆ่าตัวตาย นอกจากนี้บางทีการฆ่าตัวตายมักเกิดในครอบครัวที่มีประวัติชนิดนี้มาก่อนด้วย

อย่าลืมว่าเราสามารถช่วยเหลือคนที่คิดจะฆ่าตัวตายได้โดยการพาไปพบจิตแพทย์ เพราะคนเหล่านี้มักจะรู้สึกสิ้นหวังและคิดว่าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นเราจึงต้องยืนกรานที่จะพาเขาไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ไม่ควรปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่ตามลำพัง คอยช่วยเหลือและเตือนให้เขากินยาลดความเครียด (Antidepressants) หรือยาอื่นที่แพทย์สั่ง และพยายามเก็บอาวุธหรือยาหรือสิ่งต่างๆ ที่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการฆ่าตัวตาย

นพ.วชิระ กล่าวต่อไปถึงปัญหาสุขภาพจิตในภูมิภาคอาเซียนว่า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเดียวกัน มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียง ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ หรือความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกันหมด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือและป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ และเหตุการณ์วิกฤตที่รุนแรง และเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนได้หารือกันถึงความร่วมมือแก้ ปัญหาสุขภาพจิตด้านต่างๆ ซึ่งจะมีการบรูณาการร่วมกันใน 10 ประเทศสมาชิก ทั้งการทำฐานข้อมูล การถอดบทเรียน และการสื่อสารความเสี่ยง การฟื้นฟูสุขภาพจิตร่วมกันด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! ภาคเหนือฆ่าตัวตายสูง คาดต้นเหตุเหล้า โรคเรื้อรังhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093156&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2013, August 28].
  2. Suicide. http://en.wikipedia.org/wiki/Suicide [2013, August 29].
  3. Recognizing the Warning Signs of Suicide. http://www.webmd.com/depression/guide/depression-recognizing-signs-of-suicide [2013, August 29].