ทำไมจึงด่างขาว ? (ตอนที่ 2)

ทำไมจึงด่างขาว

วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันโรคด่างขาวของโลก (World Vitiligo Day) มีคนทั่วโลกประมาณร้อยละ 0.5 – 1ที่เป็นโรคด่างขาว

โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังสูญเสียสีผิว เป็นดวงด่าง สามารถกระทบต่อผิวหนังได้ทุกส่วนของอวัยวะ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ถึงขนาดและความเร็วในการเกิดด่างขาว

ปกติ สีของผม ผิวหนัง และตา จะถูกกำหนดด้วยเมลานิน (Melanin) โรคด่างขาวเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ที่ผลิตเมลานินตายหรือหยุดการทำงาน แพทย์ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าทำไมเซลล์จึงตายหรือหยุดทำงาน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจาก

  • ความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่ทำลายเซลล์สร้างสีเมลานินของผิวหนังที่เรียกว่า Melanocytes ของผิวหนัง
  • พันธุกรรม
  • มีต้นเหตุอื่น เช่น โดนแดดเผา ความเครียด หรือสัมผัสกับสารเคมีอุตสาหกรรม

โรคด่างขาวเกิดได้กับคนทุกอายุ (โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กว่า ปี) ทุกสีผิว แต่อาจจะเห็นได้ชัดในผู้ที่มีสีผิวเข้ม คนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) มักมีโอกาสเป็นโรคด่างขาวมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็น อย่างคนที่มี

  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • ภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ (Adrenocortical insufficiency)
  • ผมร่วงเป็นหย่อมๆ (Alopecia areata)
  • โรคโลหิตจางอย่างร้าย (Pernicious anemia)

โรคด่างขาวเป็นโรคไม่ติดต่อและไม่ทำให้เสียชีวิต มักเกิดครั้งแรกในบริเวณที่โดนแสงอาทิตย์ เช่น บริเวณมือ เท้า แขน หน้า และริมฝีปาก โดยมีอาการดังนี้

  • สีผิวด่าง (Skin discoloration)
  • ผม ขนตา คิ้ว หรือหนวด มีสีขาวเร็วกว่ากำหนด (มักเป็นก่อนอายุ 35 ปี)
  • เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณในปากและจมูกมีสีด่าง
  • มีการเปลี่ยนสีของลูกตาชั้นใน (Retina)
  • มีสีด่างรอบวงแขน สะดือ อวัยวะเพศ และช่องทวารหนัก

ทั้งนี้ อาการด่างขาวสามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็น กล่าวคือ

  1. Generalized vitiligo - เป็นชนิดที่เกิดด่างขาวได้ทั่วทั้งตัว เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
  2. Segmental vitiligo – เป็นชนิดที่เกิดด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มักเป็นตั้งแต่เด็ก เป็นอยู่ 1-2 ปี จึงหยุด
  3. Localized (Focal) vitiligo – เป็นชนิดที่เกิดเพียงไม่กี่จุดของร่างกาย

แหล่งข้อมูล

  1. Vitiligo. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vitiligo/basics/definition/con-20032007 [2015, July 7].
  2. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/vitiligo_ff.asp [2015, July 7].
  3. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/ [2015, July 7].