ทำงานเป็นกะ ทำนาฬิกาชีวิตงง (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

สำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับนั้นมีหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยแสง (Bright light treatment) การรักษาด้วยเมลาโทนีน (Melatonin treatment) เป็นต้น

ในการรักษาด้วยแสงนั้น เนื่องจากความสว่างและความมืดเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อนาฬิกาชีวิต (Circadian rhythms) ของคน การสร้างแสงสว่างเทียมเป็นการช่วยนาฬิกาชีวิตของคนทำงานกะดึก กล่าวคือ เวลาของการให้แสงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนกะ

เพื่อให้นาฬิกาชีวิตของร่างกายเดินช้าลง ควรมีการให้แสงสว่างในช่วงเย็นหรือช่วงแรกของกลางคืนและควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงในตอนเช้า การสวมแว่นดำเพื่อป้องกันแสงตอนเช้าระหว่างที่เดินทางกลับบ้านช่วยปรับนาฬิกาชีวิตได้ อย่างไรก็ดี ไม่ควรใช้การรักษาด้วยแสงสว่างกับผู้ที่มีความไวต่อแสง (Light sensitivity) หรือเป็นโรคเกี่ยวกับตา (Ocular disease)

[วิธีการรักษาด้วยแสง ได้จากการศึกษาที่พบว่า การได้รับแสงสว่าง (7000 - 12000 lux) ในเวลาที่เหมาะสม เป็นเวลา 2 - 3 วัน สามารถเลื่อนจังหวะการนอนได้ โดยปกติ แสงสว่างในห้องจะประมาณ 500 lux แสงในช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกใหม่ๆ ประมาณ 2500 lux เปรียบเทียบกับแสงอาทิตย์เวลาเที่ยง ประมาณ 100,000 lux]

ทิศทางการเลื่อนของจังหวะการนอนขึ้นอยู่กับเวลาที่ได้รับแสง ถ้าได้รับแสงในตอนเช้า จังหวะการนอนจะเร็วขึ้น ถ้าได้รับแสงในตอนเย็น จังหวะการนอนจะเลื่อนออกไป

ผลการศึกษาพบว่า วิธีการนี้มีประโยชน์ในการรักษาผู้ที่เป็นโรคนาฬิกาชีวิตแปรปรวน (Circadian Rhythm Sleep Disorders) ช่วยให้ผู้ที่ทำงานกลางคืน สามารถหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางวัน ช่วยผู้ที่นอนไม่หลับจากอาการเมาเวลาในการเดินทาง (Jet lag) และผู้ที่นอนไม่หลับในตอนเช้า เนื่องจากตื่นเร็วเกินไป (Early morning insomnia)]

ส่วนการรักษาด้วยเมลาโทนีนนั้น ต้องเข้าใจว่า เมลาโทนีนเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไพเนียล (Pineal gland) โดยใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงในตอนกลางคืน

การใช้เมลาโทนีนเพื่อตั้งนาฬิกาชีวิตใหม่ กระทำโดยการให้เมลาโทนีนในช่วงบ่ายหรือเย็นช่วยเร่งนาฬิกาชีวิตในร่างกายให้เดินเร็วขึ้น ในขณะที่การให้เมลาโทนีนในช่วงเช้าจะทำให้นาฬิกาชีวิตในร่างกายเดินช้าลง เมลาโทนีนอาจช่วยเรื่องการนอนหลับในตอนกลางวันของคนทำงานกะดึก

ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมลาโทนีนได้รับการจัดจำหน่ายเป็นอาหารเสริมและไม่ถือเป็นยา แม้ว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) จะยังไม่รับรองให้ใช้เมลาโทนีนเป็นยารักษาอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่าเมลาโทนีนมีผลข้างเคียง (Side effects) หรืออาการแทรกแซงที่ร้ายแรงแต่อย่างไร

คาเฟอีน (Caffeine) [ในรูปแบบของกาแฟที่เราดื่มกัน] เป็นสารที่ใช้กันมากที่สุดในโลกในการกระตุ้นการตื่น [ของร่างกาย] และได้แสดงให้เห็นผลในการปรับปรุงการทำงานในกะดึกได้ดี

แหล่งข้อมูล:

  1. Shift work sleep disorder. - http://en.wikipedia.org/wiki/Shift_work_sleep_disorder [2013, June 5].