ทำงานเป็นกะ ทำนาฬิกาชีวิตงง (ตอนที่ 1)

โรคที่เกิดจากการทำงาน เช่น การทำงานหนักเกินไปไม่มีเวลาพัก ลักษณะของงาน พื้นที่ปฏิบัติงาน ท่าทางที่ใช้ในการทำงาน ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการป่วย เช่นเดียวกับเวลาทำงาน อาชีพ หมอ พยาบาล กุ๊ก ทำร้านอาหารกลางคืน คนงานกะดึก เสี่ยงมีโรคมากมายที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว

อย่างคุณสมจิตร ทำงานเป็น “กุ๊ก” อยู่ที่โรงแรมในกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องรับประทานอาหารไม่เคยตรงเวลา เนื่องจากจะต้องสลับเวลาเข้ากะ เช้า บ่าย และเย็น ครั้งละ 15 วัน วนไปเรื่อยๆ กะเช้าหรือกะบ่ายไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ปัญหาเกิดในกะกลางคืน เพราะเมื่อออกกะตอนเช้าทีไร จะมีอาการตัวเย็น แขนขาชา มึนศีรษะไปหมด มีอาการเรอบ่อยมากๆ หลังมื้ออาหารจะแน่นท้องปวดท้องหลัง บางครั้งก็คลื่นไส้อาเจียน กินอะไรเข้าไปก็ออกมาแบบนั้นเหมือนไม่ถูกย่อยเลย แถมมีน้ำย่อยเหนียวๆ ออกมาด้วย กินก็กินไม่ได้ ถ่ายก็ถ่ายไม่ออก เวียนศีรษะทุกวัน ทำงานไม่ได้เลย

นี่คือโรคที่เกิดจากการทำงานเป็นกะ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เป็นกะที่ไม่ตรงเวลา ต้องวนไปเรื่อยๆ ทุก 15 วัน ร่างกายปรับตัวตามไม่ทัน ไม่รู้ว่าต้องหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารตอนไหน ในเมื่อกระบวนการย่อยอาหารแย่ลงทุกวันก็มีผลทำให้สารอาหารในเลือดน้อยลงไปเรื่อยๆ เกิดอาการสารอาหารไม่พอ มึนศีรษะหมดแรง เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงไต ทำให้นอนหลับไม่สนิทตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น ไม่มีสารอาหารในเลือดไปที่ตับ ของเสียในเลือดไม่ได้ถูกกำจัด จะมีฝ้าขึ้นหน้า ตาลอย ผิวแห้งคันไปทั้งตัว

ความผิดปกติด้านการนอนอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นกะ (SWSD = Shift work sleep disorder) หรือโรคนาฬิกาชีวิตแปรปรวน (Circadian rhythm sleep disorders) เป็นปัญหาการนอนของคนที่ต้องทำงานตอนกลางคืนหรือต้องทำงานที่เปลี่ยนกะระหว่างกลางวันและกลางคืน หรือทำงานในกะตอนเช้ามืด เช่น เวลาตี 4 ทำให้อาจมีปัญหาที่ไม่สามารถนอนหลับได้ตอนกลางวันหรืออาจไม่รู้สึกว่าได้พักผ่อนจริงแม้จะได้นอนไปแล้วก็ตาม

ความผิดปกติด้านการนอนนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย เพราะความมืดและความสว่างช่วยให้ร่างกายรับรู้ถึงเวลาที่พักผ่อนและเวลาที่ทำงาน เมื่อมีการทำงานตอนกลางคืนและนอนตอนกลางวัน ร่างกายจำเป็นต้องมีการปรับเพื่อให้นอนตอนกลางวันได้ ซึ่งบางครั้งก็ทำได้ยากเหมือนกัน

หลายคนทำงานตอนกลางคืนแล้วสามารถปรับตัวให้นอนหลับพักผ่อนได้เพียงพอในตอนกลางวัน จนกลายเป็นพวกนกฮูก (Night owls) ก็อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่หลายคนมักมีปัญหาโดยเฉพาะตอนที่ต้องเปลี่ยนกะ ตารางเวลาทำงานของคนทำงานเป็นกะจะขัดแย้งกับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย เพราะจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเวลาตื่นและเวลานอนอยู่บ่อยๆ

ความผิดปกติด้านการนอนอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นกะ จะแสดงออกเบื้องต้นด้วยอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) และอาการง่วงนอนมากผิดปกติ (Excessive sleepiness) มักเกิดกับผู้ที่ทำงานคาบเกี่ยวกับเวลานอน โดยเฉพาะการทำงานตอนกลางคืนระหว่างเวลา 22.00 น. - 6.00 น. การทำงานเป็นกะตามตารางเวลา ซึ่งมีทั้งการทำงานเป็นกะแบบถาวร เป็นระยะๆ หรือมีการสลับสับเปลี่ยนเวลาทำงาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ อาการของโรคนาฬิกาชีวิตแปรปรวน

นอกจากอาการนอนไม่หลับและอาการง่วงนอนมากผิดปกติแล้ว การนอนไม่ตรงเวลาและเวลาที่ใช้หลับในแต่ละวันน้อยกว่าหลายชั่วโมง ความง่วงจะแสดงให้เห็นโดยมีความอยากที่จะงีบ เผลอหลับโดยไม่ตั้งใจ ความเฉียบแหลมลดน้อยลง หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability) ไม่มีสมาธิ (Difficulty concentrating) ปวดศีรษะ ไม่มีแรง สมรรถภาพลดลง และเกิดอุบัติเหตุล้มคว่ำได้

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคของคนทำงานเป็นกะ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20130515/504877/โรคของคนทำงานเป็นกะ.html [2013, June 2].
  2. Topic Overview. http://www.webmd.com/sleep-disorders/guide/shift-work-sleep-disorder-topic-overview [2013, June 2].
  3. Shift Work Sleep Disorder. http://my.clevelandclinic.org/disorders/sleep_disorders/hic_shift_work_sleep_disorder.aspx [2013, June 2].
  4. Shift work sleep disorder. http://en.wikipedia.org/wiki/Shift_work_sleep_disorder [2013, June 2].