ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ตอนที่ 4)

ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ-4

ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (ต่อ)

  • สรีระร่างกายของผู้หญิง (Female anatomy) – เพราะผู้หญิงมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าผู้ชาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าถึงกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
  • การมีเพศสัมพันธ์ – ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสในการติดเชื้อได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การเปลี่ยนคู่นอนก็เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อให้มากขึ้น
  • การคุมกำเนิดบางชนิด – ผู้หญิงที่คุมกำเนิดโดยการใช้ Diaphragms จะมีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับการคุมกำเนิดด้วยสารฆ่าอสุจิ (Spermicidal agents)
  • วัยหมดประจำเดือน (Menopause) – หลังการหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจะเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเดินปัสสาวะซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่

  • ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ – เด็กที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่สามารถถ่ายออกตามปกติหรือทำให้ปัสสาวะย้อนกลับเข้าในท่อจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ทางเดินปัสสาวะอุดตัน – การมีก้อนนิ่วหรือต่อมลูกหมากโตสามารถไปกั้นปัสสาวะและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ระบบภูมิคุ้มกันถูกกด – เนื่องจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ หรืออยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้อยลง ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง
  • การใช้สายสวนปัสสาวะ (Catheter use) – คนที่ไม่สามารถปัสสาวะด้วยตนเองและต้องใช้สายสวนปัสสาวะจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากกว่า ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล ผู้ที่มีปัญหาเรื่องเส้นประสาทที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และผู้ที่เป็นอัมพาต
  • ผู้ที่มีการผ่าตัดหรือมีการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะโดยมีการใช้เครื่องมือ ล้วนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหากได้รับการรักษาทันทีและถูกต้อง โดยเฉพาะการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างมักไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาแล้วอาจทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงได้ เช่น

  • การติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 2 ครั้งหรือมากกว่าในรอบ 6 เดือน หรือ เป็น 4 ครั้งหรือมากกว่าในรอบ 1 ปี
  • ไตถูกทำลายอย่างถาวรจากการติดเชื้อที่ไตอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ที่เรียกว่า กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) อันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ได้รับการรักษา
  • หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงในการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อย
  • ท่อปัสสาวะตีบลง (Stricture) ในผู้ชายหลังจากที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะพร้อมโรคหนองใน
  • ภาวะติดเชื้อ (Sepsis) ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกรณีที่ติดเชื้อขึ้นไปที่ไต

แหล่งข้อมูล:

  1. Urinary tract infection (UTI). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-tract-infection/symptoms-causes/dxc-20344304 [2017, November 14].