ทางออกสำหรับผู้ตามใจตัวเองมากเกินไป (ตอนที่ 2)

  • แสงแดด: จะทำอย่างไร เมื่อคุณสนุกสนานกับการเล่นน้ำทะเล จนลืมทาครีมกันแดด? แผ่นหลังและไหล่ของคุณจึงถูกเผาไหม้จนรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส ผศ. ซูซาน เวอินเคิล แห่งภาควิชาตัจวิทยา (ผิวหนัง) มหาวิทยาลัย South Florida ณ เมือง Tampa สหรัฐอเมริกา แนะนำว่า จงใช้ผ้าชุบส่วนผสมของเบคกิงโซดา (Baking soda) ซึ่งคือ ผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง 2 ช้อนชากับน้ำเย็น 2 ถ้วย หรือ นำถุงชาที่ใช้แล้วไปแช่เย็น จากนั้นก็วางทาบบริเวณผิวหนังที่ถูกเผาไหม้ เป็นเวลา 5 นาที กรดTannin ในใบชาจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้

    จงป้องกัน หรือบรรเทาผิวที่ลอก ด้วยน้ำยาเพิ่มความชุ่มชื้น ที่ประกอบด้วยเจลชนิดซึ่งอุ้มความชุ่มชื้น หรือ เจลว่านหางจระเข้ (Aloe vera) ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่ถ้ามีแผลพุพองด้วย อย่ากดให้แตก เพราะแผลพุพองจะเป็นเสมือนกระโจมเล็กๆ ที่อุ้มสารเหลวไว้ และปกป้องแผลจากเชื้อแบคทีเรีย แต่หากแผลพุพองแตก จงทาบริเวณแผลด้วยขี้ผึ้งยาปฏิชีวนะ (Antibiotic ointment)


  • ออกกำลังกายหักโหม: จะทำอย่างไร เมื่อออกกำลังกายหักโหมหลังจากที่ไม่ได้ออกกำลังกายมาหลายเดือน? คุณไปสมัครคอร์สฟิตเนสที่กระโดดโลดโผน หลังจากที่มีปณิธานอันแน่วแน่ว่าจะออกกำลังกายแต่นี้ไป แต่ 24 ชั่วโมงให้หลัง คุณปวดระบมไปทั้งตัว จนแทบจะคลานขึ้นบันได ดร. ซีดริค ไบรอันต์ หัวหน้านักสรีรวิทยาสาขาการออกกำลังกาย (Exercise Physiologist) แห่งสภาออกกำลังกายอเมริกัน (American Council of Exercise) อธิบายว่า ทั้งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อส่วนซึ่งเล็กมากจนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องจึงจะเห็น เกิดการฉีกขาด ซึ่งต้องได้รับการทะนุถนอมเยียวยา จงดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยกระบวนการเยียวยาฟื้นฟู

    ลิส เนโพเร็นต์ นักสรีรวิทยาสาขาออกกำลังกาย แห่งนครนิวยอร์ค และเป็นนักประพันธ์หนังสื่อชื่อ “The Ultimate Body” ก็แนะนำให้เดินช้าๆเพื่อการผ่อนคลาย เพื่อช่วยการเยียวยากล้ามเนื้อที่ฉีกขาด โดยยืดกล้ามเนื้อเบาๆ บริเวณที่บาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการยืดกล้ามเนื้อจากการกระโดดโลดเต้น แต่จงค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อที่ปวด และอยู่ในตำแหน่งนั้นไม่ต่ำกว่า 10 วินาที หรือไปรับการนวด โดยให้ผู้นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ปวด แทนที่จะกระแทกด้วยการบำบัดเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป อย่าลืมกินยาต้านการอักเสบตามแพทย์ หรือ เภสัชกรแนะนำจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

กรณีแรก สอนให้เรารู้ว่า “อย่า เสพสุข จนทุกข์หนัก” เพราะการทำตามอำเภอใจจนเกินไป มักมีผลสะท้อนในมุมกลับที่ไม่น่ารื่นรมย์เลย ส่วนกรณีที่ 2 ให้บทเรียนในการดำรงชีวิตประจำวันว่า ทำอะไรให้เลือก “ทางสายกลาง” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะปลอดภัยที่สุด การมุ่งมั่นทำอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักประมาณตน ก็อาจต้องลงเอยด้วยความทุกข์ทรมาณที่ไม่คาดคิดมาก่อน

แหล่งข้อมูล: Dr. Susan Weinkle, Dr. Cedric Bryant และ Liz Neporent ใน http://www.foxnews.com/health/2011/09/26/solutions-for-everyday-overindulging/[1 ตุลาคม 2554].