ถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำคร่ำอักเสบคืออะไร?

ถุงน้ำคร่ำอักเสบ หรือถุงน้ำคร่ำติดเชื้อ หรือถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อ(Chorioamnionitis หรือ Intra-amniotic infection ย่อว่า IAI หรือ Amnionitis) เป็นภาวะแทรกซ้อน(อาการแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงทางสูติกรรมที่ทำอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในถุงน้ำคร่ำที่มีทารกอยู่ด้านใน ซึ่งตามปกติทารกในครรภ์จะลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่มีน้ำคร่ำอยู่รอบๆตัวทารก ช่วยปกป้องทารก กันการกระแทก ป้องกันการติดเชื้อ และถุงน้ำคร่ำนี้จะอยู่ในโพรงมดลูกอีกชั้นหนึ่ง

ถุงน้ำคร่ำจะเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ไม่มีรอยฉีกขาด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไปสู่ทารก ถุงน้ำคร่ำมักจะเกิดการแตกเมื่อทารกใกล้คลอด หากถุงน้ำคร่ำแตกเป็นระยะเวลานานก่อนการคลอดบุตร เชื้อโรคต่างๆในช่องทางคลอดคือ จากปากมดลูกและจากช่องคลอด สามารถเข้าไปในถุงน้ำคร่ำได้ และทำให้เกิด การอักเสบในถุงน้ำคร่ำ การอักเสบกับตัวทารกเอง สายสะดือ รก และกับเยื่อหุ้มทารกได้

อัตราการเกิดถุงน้ำคร่ำอักเสบจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศและในแต่ละโรงพยาบาล ด้วยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประเทศที่มีการดูแลสตรีตั้งครรภ์ได้ทั่วถึงหรือไม่ และปัจจัยเสี่ยงของสตรีตั้งครรภ์ต่อการเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบนี้(ดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”) ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบภาวะนี้ได้ประมาณ 1-4%ของสตรีตั้งครรภ์ทั้งหมด

ถุงน้ำคร่ำอักเสบส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?

ถุงน้ำคร่ำอักเสบ

เมื่อมีการอักเสบในถุงน้ำคร่ำจะทำให้เกิดอันตรายต่อทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อในทารก เหนี่ยวนำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกผิดปกติ นำมาซึ่งเกิดการแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด ตามมา

สตรีตั้งครรภ์คนใดมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำคร่ำอักเสบ?

สตรีตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำคร่ำอักเสบ ได้แก่

1. มีถุงน้ำคร่ำแตก ยิ่งแตก หรือรั่ว นานก่อนที่ทารกจะคลอด จะยิ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของถุงน้ำคร่ำอักเสบ

2. การติดเชื้อในช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ

3. มีคอมดลูก(ปากมดลูก)สั้น

4. ระยะเวลาการเจ็บครรภ์เนิ่นนานมาก(การเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ)

5. มีการตรวจภายในจำนวนหลายครั้งมากระหว่างรอคลอด

6. ดื่มเหล้า สูบบุหรี่

7. เคยมีประวัติการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำมาก่อน

อาการถุงน้ำคร่ำอักเสบมีอะไรบ้าง?

อาการถุงน้ำคร่ำอักเสบได้แก่

1. สตรีตั้งครรภ์มีไข้

2. ชีพจรสตรีตั้งครรภ์เร็วขึ้น

3. น้ำคร่ำมีกลิ่นเหม็น

4. กดเจ็บที่มดลูก

5. เจ็บครรภ์ มดลูกมีการหดรัดตัวผิดปกติ

6. หัวใจทารกเต้นเร็วขึ้น

แพทย์วินิจฉัยภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: เช่น มีประวัติถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่ว มีน้ำไหลออกทางช่องคลอด มีไข้ ปวดท้อง

ข. การตรวจร่างกาย: เช่น มีไข้เกิดในระหว่างรอคลอดเป็นอาการที่ชัดเจนที่สุด โดยที่ไม่มีสาเหตุอย่างอื่น ตรวจพบชีพจรเต้นเร็ว กดเจ็บที่มดลูก หัวใจทารกในครรภ์เต้นเร็ว ความก้าวหน้าของการคลอดล่าช้า มีตกขาว หรือน้ำคร่ำที่ไหลออกมาลักษณะเป็นหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจโดยตรงที่ให้ผลแน่นอนที่สุด คือ การดูดน้ำคร่ำผ่านทางหน้าท้องไปเพาะเชื้อและย้อมสีกรัม(Gram stain, การย้อมสีแบคทีเรียเพื่อดูการติดเชื้อ)เพื่อดูว่าในน้ำคร่ำมีแบคทีเรียหรือไม่ ซึ่งปกติไม่ได้ตรวจน้ำคร่ำเป็นกิจวัตร ที่ทำประจำคือการตรวจเลือด/การตรวจซีบีซี จะพบเม็ดเลือดขาวสูง

รักษาภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ คือ สตรีที่มีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ จะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และแพทย์รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดดำ ให้น้ำเกลือ/สารน้ำทางหลอดเลือด และแพทย์ต้องให้ยากระตุ้นชักนำให้เกิดการคลอดเกิดขึ้นโดยเร็ว(การชักนำให้เกิดการคลอด) ซึ่งอาจเป็นการคลอดทางช่องคลอด หรือการผ่าตัดคลอดบุตร เพราะหากให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และลูกจากการเกิดภาวะติดเชื้อทั้งในมารดาและทารก

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ของภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ เช่น

1. แท้งบุตร

2. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด

3. มารดาคลอดก่อนกำหนด

4. ทารกในครรภ์ติดเชื้อ

5. ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือ ทารกเสียชีวิตแรกคลอด

6. มารดาติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)

7. มีโอกาสแผลผ่าตัดคลอดติดเชื้อสูงขึ้นหากได้รับการผ่าตัดคลอด

8. มารดาติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) และมีโอกาสเสียชีวิตได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อตั้งครรภ์ หากมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ สังเกตโดยมีน้ำใสๆไหลออกมาทางช่องคลอด ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์ หรือหากมีไข้ ปวดท้อง มดลูกหดรัดตัวถี่ผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วนโดยไม่ต้องรอดูอาการหรือรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์

ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

หากมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ สังเกตโดยมีน้ำใสๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือหากมีไข้ ปวดท้อง มดลูกหดรัดตัวถี่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอดูอาการหรือรอถึงวันแพทย์นัด

ป้องกันภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบได้หรือไม่?

ส่วนมากสามารถป้องกันภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบได้ เช่น เมื่อมีถุงน้ำคร่ำแตก ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หากยังไม่มีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ และอายุครรภ์พอที่จะให้คลอดได้ แพทย์จะชักนำให้คลอด ปัญหามักเกิดกับทารกที่อายุครรภ์อ่อนมากไม่สามารถให้คลอดได้เพราะปอดยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่ แพทย์ต้องต้องรักษาแบบประคับประคองไปก่อน โดยแพทย์จะให้ยาปฎิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ แล้วสังเกตอาการต่อ หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำจริง ก็จำเป็นต้องทำให้คลอดก่อนกำหนด

ทารกที่เกิดจากภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบมีอันตรายหรือไม่?

ความรุนแรงในการติดเชื้อในทารกที่มีถุงน้ำคร่ำอักเสบมีตั้งแต่น้อย จนถึงมาก โดยขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาในการติดเชื้อของทารก ในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยาปฎิชีวนะ ทารกจะหายเป็นปกติ และมีพัฒนาตามปกติได้ แต่ในกรณีที่การติดเชื้อรุนแรง ทารกมีโอกาสเกิด ปอดอักเสบ, เกิดติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), เกิดภาวะขาดออกซิเจน และ/หรือเลือดออกในสมอง, ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ แต่หากทารกรอดชีวิต จะทำให้มีการพัฒนาของระบบประสาทไม่เป็นปกติในระยะยาวได้

ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบสามารถเกิดซ้ำในครรภ์ครั้งต่อไปได้หรือไม่?

ถุงน้ำคร่ำอักเสบ สามารถเกิดซ้ำได้ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์ยังมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”อยู่ หรือมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดเกิดขึ้นอีกเมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่

หลังคลอดจากมีภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรมีเพศสัมพันธ์เมื่อใด?

การดูแลตนเองหลังคลอดจากมีถุงน้ำคร่ำอักเสบ โดยเฉพาะได้รับการผ่าตัดคลอด แพทย์มักให้รับประทานยาปฎิชีวนะต่อ ควรรับประทานยาดังกล่าวให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ หากคลอดทางช่องคลอดและไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะช่วงก่อนคลอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้คลอดเองต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการปวดท้อง กลิ่นของน้ำคาวปลา ขนาดมดลูก หากรับประทายยาที่แพทย์สั่งแล้วอาการต่างๆตามที่กล่าวมาไม่ดีขึ้น หรือเลวลง ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ ควรเว้นระยะไปจนถึงอย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังคลอด และควรรับการคุมกำเนิด หรือแม้ว่าสตรีจะมีการทำหมันหลังคลอด ก็ควร รอจนให้ร่างกายค่อยๆปรับสภาพให้ปกติก่อน และในเรื่องวิธีการคุมกำเนิด ควรปรึกษา แพทย์ถึงวิธีที่เหมาะสม(ก่อนมีเพศสัมพันธ์)ตั้งแต่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้หลังคลอด

หลังคลอดจากมีภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้เมื่อไหร่? ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

หลังคลอดจากมีภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ สามารถตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้ตามปกติเช่นเดียวกับสตรีที่ไม่มีถุงน้ำคร่ำอักเสบ แต่ควรเว้นระยะไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อมีเวลาเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่งคลอดได้เต็มที่ ซึ่งโดยทั่วไป สำหรับการคุมกำเนิด สามารถใช้ได้ทุกวิธีเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com [2017,Oct21]
  2. https://www.uptodate.com [2017,Oct21]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3008318/ [2017,Oct21]