ถึงร้อยหวายก็ไม่ไหว (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ถึงร้อยหวาย-3

      

      

      ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะตรวจขาช่วงล่างถึงอาการบวม และแพทย์อาจสัมผัสได้ถึงช่องว่างของเอ็นที่ขาดได้ หรือแพทย์อาจให้ผู้ป่วยคุกเข่าบนเก้าอี้ หรือนอนพาดขาไปบนโต๊ะ หรือบีบกล้ามเนื้อน่องดูว่ามีการงอได้โดยอัตโนมัติหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้อาจหมายความว่ามีการฉีกขาดของเอ็นร้อยหวาย นอกจากนี้แพทย์อาจยืนยันถึงการฉีกขาดได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์หรือเอ็มอาร์ไอ

      สำหรับการรักษาเอ็นร้อยหวายที่ฉีกขาดมักขี้นกับอายุ ระดับการทำกิจกรรม และความรุนแรงของการบาดเจ็บ

      โดยทั่วไปในคนที่อ่อนวัยและคนที่เล่นกีฬามากมักเลือกการผ่าตัดเพื่อซ่อมเอ็นที่ฉีกขาดให้สมบูรณ์ ในขณะที่คนสูงวัยกว่าจะไม่เลือกการผ่าตัด อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยล่าสุด พบว่า การผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดก็ให้ผลพอๆ กัน

      สำหรับการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด (Nonsurgical treatment) สามารถทำได้ด้วยการ

  • พักการใช้งานเส้นเอ็นด้วยการใช้ไม้ค้ำยันรักแร้ (Crutches)
  • ใช้การประคบเย็น ครั้งละประมาณ 20 นาที
  • ใช้ผ้าพันข้อเท้าเพื่อลดอาการบวม
  • ยกขาให้สูงขึ้นโดยวางบนหมอนหรือเก้าอี้
  • กินยาแก้ปวด เช่น ยา Ibuprofen และยา Naproxen
  • งดการเคลื่อนไหวข้อเท้าใน 2-3 สัปดาห์แรก โดยใส่รองเท้าชนิดที่เรียกว่า Walking boots ซึ่งจะช่วยกระจายน้ำหนักของขาส่วนล่างไปรอบๆ ขา
  • ใช้กายอุปกรณ์ (Orthotics) อื่นๆ
  • กายภาพบำบัด (Physical therapy)

      แม้การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดจะช่วยหลีกเลี่ยงเรื่องการติดเชื้อจากการผ่าตัดได้ก็ตาม แต่การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการฉีกขาดอีก (Re-rupture) ซึ่งจะทำให้หายช้าลง

      ส่วนการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดบริเวณหลังเท้า และเย็บเอ็นที่ขาดให้ติดกันหรือเย็บติดกับเอ็นเส้นอื่น ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะที่ขาด ซึ่งการผ่าตัดจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเส้นประสาทอาจถูกทำลายได้

      ทั้งนี้ หลังการรักษาจะต้องมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อขาและเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจะทำให้หายได้เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่จะกลับเป็นปกติได้ในเวลา 4-6 เดือน อย่างไรก็ดี ก็ยังควรทำกายภาพต่อไปเพราะบางปัญหาอาจยืดเยื้อนานเป็นปี และอย่ากลับไปทำกิจกรรมในระดับเดิมที่เคยทำจนกว่า

  • คุณจะสามารถเคลื่อนเท้าได้ง่ายและอิสระเหมือนตอนที่ยังไม่เจ็บ
  • รู้สึกว่าขาจะแข็งแรงเหมือนตอนปกติ
  • ไม่มีอาการปวดขาเมื่อเดิน วิ่ง หรือกระโดด

      ในส่วนของการป้องกันการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายที่อาจทำได้ เช่น

  • อย่าวิ่งขึ้นที่สูง
  • ใส่รองเท้าที่ช่วยพยุงและรัดพอดี
  • หยุดออกกำลังกายถ้ารู้สึกเจ็บหรือตึงที่ส้นเท้าหรือน่องขา

แหล่งข้อมูล:

  1. Achilles tendon rupture. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/achilles-tendon-rupture/symptoms-causes/syc-20353234 [2018, June 24].
  2. What Is an Achilles Tendon Injury? https://www.webmd.com/fitness-exercise/guide/achilles-tendon-injury# [2018, June 24].
  3. Achilles Tendon Disorders. https://www.foothealthfacts.org/conditions/achilles-tendon-disorders [2018, June 24].