“ต้อหิน” ตรวจก่อน เจอก่อน ตาไม่บอด (ตอนที่ 7)

การใช้ยาหยอดตาเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาต้อหิน ในหลายกรณีต้องหยอดตาทุกวันตลอดชีวิต ไม่เหมือนโรคติดต่อทั่วไปที่เมื่อไม่ได้ใช้ยาแล้วจะมีอาการอย่างเห็นได้ชัด แต่การขาดยาสำหรับต้อหินนั้นจะไม่แสดงอาการชัด เพราะการสูญเสียการมองเห็นจะค่อยเป็นค่อยไปจนถึงขั้นตาบอดอย่างถาวร

เมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นเพราะสาเหตุจากต้อหิน การสูญเสียอาจเพิ่มมากขึ้นแม้ว่าจะได้ทำการลดความดันลูกตาให้อยู่ในระดับปกติแล้วก็ตาม ดังนั้น โดยส่วนใหญ่จึงต้องมีการใช้ยาไปตลอดชีวิต และควรใช้ยาตามแพทย์สั่งทุกวัน

วิธีดูแลรักษาต้อหินด้วยตนเองนั้น ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เกี่ยวกับโรค การใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ การตรวจเพื่อควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน จะช่วยลดโอกาสในการสูญเสียการมองเห็นได้ โดย

  • ใช้ยารักษาต้อหินตามแพทย์สั่ง ถ้าหากพบว่ายาทำให้เกิดผลข้างเคียงให้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจเปลี่ยนยาให้
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ถ้าท่านมีมุมระบายน้ำในตา (Drainage angle) แคบและอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินมุมปิด แพทย์อาจเตือนถึงการใช้ยาในการขยายรูม่านตา เพราะเมื่อมีการขยายรูม่านตา Drainage angle อาจอุดตันเป็นสาเหตุให้เกิดต้อหินมุมปิด มียาบางชนิดที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น ยาแก้แพ้ (Antihistamines) และยาแก้เมา (Motion sickness medicines)
  • พกบัตรหรืออะไรก็ได้ที่ระบุว่าคุณเป็นต้อหิน และกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง รวมทั้งยารักษาโรคต้อหิน

ยาที่ใช้ลดการสร้างของเหลวที่ผลิตออกจากตาได้แก่ ยา Beta-blockers ยา Adrenergic agonists ยา Carbonic anhydrase inhibitors และยา Hyperosmotics ยาที่ไปช่วยการไหลของของเหลวออกจากลูกตาได้มากขึ้น ได้แก่ ยา Cholinergics ยา Adrenergic agonists และยา Prostaglandin analogs

การผ่าตัดไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นเสมอไปในการรักษาต้อหิน มักมีการใช้ยาเพื่อควบคุมความดันลูกตาก่อนที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยเลเซอร์ก่อน หากไม่ได้ผลจึงลงมือผ่าตัดจริง การผ่าตัดเป็นสิ่งจำเป็นในกรณีของ

  • ต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลัน - การรักษาด้วยเลเซอร์จะช่วยเปิดม่านตาให้ของเหลวไหลออก คนที่มีต้อหินมุมปิดในตาข้างหนึ่งมักจำเป็นต้องทำเลเซอร์ตาอีกข้างหนึ่งด้วย เพื่อป้องกันการเป็นแบบเดียวกัน คนที่มี Drainage angles แคบอาจต้องใช้เลเซอร์รักษาเพื่อป้องกันต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลัน ถ้าการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผล แพทย์อาจจำเป็นต้องลงมือผ่าตัด เช่น การตัดม่านตา (Iridectomy) หรือ การผ่าตัดทำทางระบายน้ำของลูกตา (Trabeculectomy)
  • ต้อหินมุมเปิด – การรักษาด้วยเลเซอร์ก่อนอาจจำเป็นสำหรับต้อหินมุมเปิด หากความดันลูกตายังคงสูงหรือทำลายประสาทอีกแม้ว่าจะมีการใช้ยาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะกรณีที่มีความดันลูกตาสูงมากและเป็นต้อหินชนิดรุนแรง หรือบางกรณีการรักษาต้อหินด้วยการผ่าตัดก่อนอาจจะได้ผลมากกว่าการหยอดตาเพื่อลดความดันลูกตาและป้องกันตาบอด
  • ในทารกที่เป็นต้อหินโดยกำเนิด อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดโดยเร็วเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันตาบอด

แหล่งข้อมูล

  1. Glaucoma - Treatment Overview. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-treatment-overview [2013, February 9].
  2. Glaucoma – Medications. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-medications [2013, February 9].
  3. Glaucoma - Home Treatment. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-home-treatment [2013, February 9].
  4. Glaucoma – Surgery. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-surgery [2013, February 9].