ต้อผ่าตัดกระจก หนึ่งหมื่นราย (ตอนที่ 4)

สารบัญ

การตรวจหาต้อกระจกอาจทำได้โดยการตรวจตาอย่างละเอียดซึ่งรวมถึง :

  • การวัดระดับสายตา (Visual acuity test = VA) เป็นการวัดระดับสายตาตามระยะทางใกล้ไกลโดยการอ่านแผ่นทดสอบ (Eye chart)
  • การตรวจโดยขยายม่านตา (Dilated eye exam) โดยการหยอดน้ำยาขยายรูม่านตาให้กว้างขึ้น แล้วตรวจด้วยเครื่องตรวจตาที่มีเลนส์ขยายเฉพาะ (Special magnifying lens) เพื่อดูจอรับภาพและประสาทตาว่าถูกทำลายหรือมีปัญหาอื่นหรือไม่ หลังการตรวจอาจทำให้ตามัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • การตรวจความดันลูกตา (Tonometry) อาจมีการหยอดยาชาก่อนการตรวจ

คนที่เริ่มเป็นต้อกระจกอาจช่วยได้ด้วยการใช้แว่นสายตาใหม่ การเพิ่มแสงไฟ การใช้แว่นขยาย หรือแว่นกันแดด แต่หากเป็นมากขึ้น อาจต้องมีการปรับปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านเพื่อป้องกันการหกล้มและบาดเจ็บ

การผ่าตัดเป็นการรักษาต้อกระจกที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยการเลาะเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular lens implant = IOL) แทน ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 90 ของคนที่ผ่าตัดต้อกระจกจะมีอาการมองเห็นได้ดีหลังการผ่าตัด

การผ่าต้อกระจกจำเป็นต้องทำเมื่อการสูญเสียการมองเห็นนั้นมีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการผ่าตัด ส่วนใหญ่การชะลอการผ่าตัดก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อตาหรือทำให้การผ่าตัดยากขึ้น ดังนั้นจึงควรศึกษาให้ดีและไม่จำเป็นต้องเร่งผ่า

อย่างไรก็ดี บางครั้งอาจต้องทำการผ่าต้อกระจกออกก่อนแม้ว่าต้อจะไม่ได้สร้างปัญหาในการมองเห็นก็ตาม แต่เป็นไปเพื่อการรักษาปัญหาตาอื่นๆ เช่น การเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาอันเนื่องมาจากอายุ (Age-related macular degeneration) หรือโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic retinopathy)

ในผู้สูงอายุ การผ่าตัดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่มีต้อกระจกในตาทั้งสองข้าง มักจะไม่ทำการผ่าพร้อมกัน แต่ทำการผ่าข้างแรกก่อนแล้วดูผลว่าการเห็นดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงค่อยทำการผ่าตัดอีกข้าง ซึ่งมักจะใช้เวลาห่างกันประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ หากมีทั้งต้อกระจกและต้อหิน อาจทำการผ่าทั้งสองอย่างพร้อมกัน

การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี โดยทั้ง 2 วิธี ผ่าแล้วกลับบ้านได้เลย การเลือกการใช้การผ่าวิธีใดขึ้นอยู่กับลักษณะของต้อกระจกที่เป็นและประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด

วิธีแรกเป็นการผ่าตัดเล็กที่เรียกว่า การสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อกระจก (Phaco-emulsification) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (คลื่นอัลตราซาวด์) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในการผ่าต้อกระจก ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้ คือ แผลเล็ก หายเร็ว คนไข้ใช้สายตาได้เร็ว

วิธีที่ 2 เป็นการผ่าตัดแบบ Standard extra-capsular cataract extraction (ECCE) เป็นการผ่าตัดต้อกระจกแบบดั้งเดิม แผลจะมีขนาดใหญ่ ต้องเย็บแผลประมาณ 4 - 7 เข็ม แผลหายช้า และผู้ป่วยใช้สายตาได้ช้ากว่าการสลายต้อกระจก

แหล่งข้อมูล

  1. Cataracts - Treatment Overview. http://www.webmd.com/eye-health/cataracts/cataracts-treatment-overview [2013, January 30].
  2. Cataracts – Surgery. http://www.webmd.com/eye-health/cataracts/cataracts-surgery [2013, January 30].