ต้มน้ำก่อนบริโภค ป้องกันโรคทางเดินอาหาร

เมื่อ เวลา 21.20 น. วันที่ 26 ตุลาคม ศกนี้ การประปานครหลวง ได้ออกประกาศว่า น้ำดิบที่ท่วมเข้ามาในคลองประปาฝั่งตะวันตกแล้วได้ส่งเข้าโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์นั้น มีคุณภาพต่ำลงมาก จนไม่สามารถผลิตเป็นน้ำประปาที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีสีและความขุ่นเกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การประปานครหลวงขอยืนยันว่า น้ำประปาดังกล่าวไม่มีสารพิษที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ต้องต้มน้ำก่อนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภค เมื่อสถานการณ์ผลิตน้ำประปาเข้าสู่ภาวะปกติ การประปานครหลวงจะแจ้งให้ทราบต่อไป

น้ำที่เหมาะสำหรับการบริโภคของคนเราเรียกว่า Potable Water โดยผ่านกระบวนการกรองหรือกลั่น หรือโดยวิธีอื่นๆ ส่วนน้ำที่ไม่เหมาะสำหรับดื่ม อาจใช้เพื่อการอาบหรือการว่ายน้ำ เรียกว่า “น้ำปลอดภัย” (Safe Water) โดยใส่สาร Chlorine (ซึ่งสิ่งนี้อาจก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อ) น้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ก๊าซ Ozone หรือการฉายรังสี Ultraviolet

คุณภาพของน้ำที่ต่ำ และสภาวะอนามัยที่ไม่สะอาด เป็นภัยต่อชีวิต ปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน องค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า “น้ำปลอดภัย” สามารถป้องกันเด็กตายจากอุจจาระร่วงได้ปีละ 1.4 ล้านคน ส่วนประเทศที่ขาดแคลนน้ำ ก็ต้องนำน้ำเข้าจากต่างประเทศ

ในประเทศที่กำลังพัฒนา 90% ของน้ำเสีย (Waste water) ไม่ได้รับการบำบัดก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองในท้องถิ่น ประมาณ 50 ประเทศที่มีประชากรโลกอยู่หนึ่งในสาม ได้รับผลกระทบปานกลางถึงมากจากน้ำเสีย และในจำนวนนี้ 17 ประเทศสกัดน้ำมาใช้มากกว่า ส่งน้ำคืนธรรมชาติตามวัฏจักรของน้ำ ผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ น้ำในแม่น้ำ และในทะเลสาบเป็นพิษ แต่ยังทำให้แหล่งน้ำบาดาลด้อยคุณภาพไปด้วย

ร่างกายคนเรามีน้ำอยู่ประมาณ 55% ถึง 78% ขึ้นอยู่กับรูปร่างของแต่ละคน เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเหมาะสม เราต้องหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ (Dehydration) โดยที่น้ำส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและเครื่องดื่มมากกว่าการดื่มน้ำโดยตรง ส่วนร่างกายต้องการน้ำมากน้อยเพียงใดในแต่ละวันนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันขึ้นอยู่

โดยทั่วไปแล้ว ความต้องการน้ำของแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับระดับกิจกรรม อุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยอื่นๆ ผู้มีร่างกายแข็งแรง ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 7 แก้ว การดื่มน้ำต่อวันมากกว่านี้มักไม่เป็นไร ยกเว้นผู้ป่วยโรคไต แต่ถ้าน้อยกว่านี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

น้ำถูกขับออกจากร่างกายในหลายรูปแบบ อาทิ ปัสสาวะและอุจจาระ ผ่านเหงื่อ และการหายใจ (เอาไอน้ำออก) การออกกำลังกาย และความร้อนจากแสงแดด จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปรกติ ดังนั้นการเพิ่มน้ำดื่มต่อวันก็ควรเพิ่มมากกว่าปรกติ ตามไปด้วย

อันที่จริง คนเราต้องการน้ำที่ไม่บริสุทธ์บ้าง ซึ่งเจือปนด้วยเกลือและอ๊อกไซด์ของโลหะบางชนิด อาทิ ทองแดง เหล็ก แคลเซี่ยม และตะกั่วในปริมาณที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย หรือแม้แต่แบคทีเรียบางชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่นกัน ส่วนสารละลาย (Solute) บางอย่างก็เป็นที่ต้องการ เพราะช่วยเพิ่มรสชาติและให้เกลือแร่ (Electrolyte) ที่จำเป็นต่อร่างกาย

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือน3พท.ต้มน้ำประปาก่อนบริโภค http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=561&contentID=172356 [2011, October 27].
  2. Water. http://en.wikipedia.org/wiki/Water [2011, October 27].