“ต้อหิน” ตรวจก่อน เจอก่อน ตาไม่บอด (ตอนที่ 2)

สารบัญ

ต้อหินแบ่งเป็น 2 ชนิด หลักๆ คือ ต้อหินมุมเปิด และ ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิด (Open-angle glaucoma : OAG) หรืออาจเรียกว่า ต้อหินแบบเรื้อรัง (Chronic glaucoma) เป็นต้อหินชนิดที่พบมากที่สุด มีประมาณร้อยละ 90 ของต้อหินที่เป็น และมีชาวอเมริกันถึง 3 ล้านคนที่เป็นต้อหินชนิดนี้ ต้อหินชนิดนี้มักเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างพร้อมกัน แต่ข้างหนึ่งอาจเป็นมากกว่าข้างหนึ่ง โดยมีลักษณะ :

  • เกิดจากการอุดตันของทางระบายน้ำในตา ทำให้ความดันในตาสูงขึ้น
  • มีมุมกว้างและเปิดออกระหว่างม่านตา (Iris) และกระจกตาหรือแก้วตา (Cornea)
  • มีพัฒนาการของต้ออย่างช้าๆ
  • ไม่มีอาการหรือสัญญาณอะไรที่เตือนว่าเป็นต้อ

ส่วนต้อหินมุมปิด (Closed angle-glaucoma : CAG) หรืออาจเรียกว่า ต้อหินแบบเฉียบพลัน (Acute glaucoma) เป็นต้อหินที่พบน้อยกว่า มักเกิดในข้างใดข้างหนึ่ง มีประมาณครึ่งของผู้ที่เป็นต้อหินมุมปิดจะเป็นต้อหินในตาอีกข้างหนึ่งภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีลักษณะ :

  • เกิดจากการอุดตันของทางระบายน้ำในตา ที่เป็นผลจากการที่ความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีมุมปิดหรือแคบระหว่างม่านตา (Iris) และกระจกตาหรือแก้วตา (Cornea)
  • มีพัฒนาการของต้ออย่างรวดเร็ว
  • มีอาการหรือสัญญาณที่มักจะสังเกตได้
  • ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีทันใด

[คำว่า “มุมเปิด” และ “มุมปิด” หมายถึง มุมที่ม่านตาและกระจกตามาประจบกันแบบกว้างหรือเปิดออก และแบบแคบหรือปิดเข้า]

นอกจากนี้ยังมี ต้อหินโดยกำเนิด และ ต้อที่เป็นหลังจากที่มีอายุได้ 2-3 ปี ที่เรียกว่า Congenital and infantile glaucoma ซึ่งเกิดจากความพิการแต่กำเนิด (Birth defects) โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน (Rubella) หรือเป็นกรรมพันธุ์ เช่น โรคเนื้องอกเส้นประสาททั่วกายหรือโรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) และยังมี

  • ต้อหินแบบทุติยภูมิ (Secondary glaucoma) ซึ่งเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ต้อหินที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ตาได้รับบาดเจ็บ มีการผ่าตัดตา มีเนื้องอกในลูกตา หรือ เป็นผลมาจากการเป็นโรคเบาหวาน
  • เกิดจากยาบางชนิด (Corticosteroids) ที่ใช้รักษาอาการอักเสบของตาหรือเกิดจากโรคอื่น
  • ต้อหินอาจเป็นผลมาจากการแตกหรือหลุดออกมาของสารสี (Pigment) ที่พบในม่านตา ต้อหินชนิดนี้เรียกว่า Pigmentary glaucoma
  • เกิดจากต้อกระจก (Cataract) ที่ทำให้เลนส์ตาบวม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดต้อหินที่เรียกว่า Phacomorphic glaucoma เมื่อต้อกระจกโตขึ้น เลนส์ตาจะหนาและติดกับมุมระบายน้ำ (Drainage angle) ทำให้เกิดความดันในลูกตา การใช้ยาและการผ่าตัดอาจช่วยลดความดันในลูกตา การผ่าต้อกระจกออกเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาต้อหินชนิดนี้

แหล่งข้อมูล

  1. Types of Glaucoma. http://www.glaucoma.org/glaucoma/types-of-glaucoma.ph [2013, February 4].
  2. Glaucoma - What Happens. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-what-happens [2013, February 4].
  3. Glaucoma - Cause http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-cause [2013, February 4].