ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) คือ ภาวะที่เกิดมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดจาก

  • การติดเชื้อของเนื้อเยื่อ และ/หรืออวัยวะต่างๆ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเกิดการอักเสบตามไปด้วยโดยไม่มีการติดเชื้อในต่อมน้ำเหลือง (เช่น ฟันผุ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ เป็นต้น)
  • หรือจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง (เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง)
  • หรือจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองโดยไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อก็ได้ (เช่น ในโรคออโตอิมมูน)

ต่อมน้ำเหลือง เป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง โดยมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ รูปไข่ นุ่ม เคลื่อนที่ได้เล็กน้อย มีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร ในภาวะปกติมักคลำไม่พบเพราะจะอยู่ปนไปกับเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่วตัวในทุกอวัยวะ ยกเว้นในสมอง มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นตัวดักจับสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรค นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายด้วย

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะพบบ่อยมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใดๆแล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงตามมา แต่ไม่มีรายงานความชุกของภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นภาวะที่พบในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจน ถึงผู้สูงอายุ และพบทั้งในเพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจเกิดเพียง ต่อมเดียว, หลายๆต่อมพร้อมๆกัน, ในหลายตำ แหน่ง (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ), และ/หรือ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือ ตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดการอักเสบ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ได้แก่

ก. มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆ แล้วส่งผลให้เกิดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียงอักเสบตามไปด้วย โดยไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เช่น

  • การอักเสบของช่องปากและช่องคอจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น เหงือก ลิ้น กระพุ่งแก้มอักเสบ ฟันผุ ต่อมทอนซิลอักเสบ) ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบคือ ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณลำคอ
  • โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส และ/หรือจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคหวัด ไข้ หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน) ต่อมน้ำเหลืองที่โตคือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้งด้านหน้าและด้านหลังของคอ
  • การมีการอักเสบหรือแผลที่ มือ แขน หน้าอก เต้านม จะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองรักแร้อักเสบ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ การมีแผล มีการอักเสบของ เท้า ขา และอวัยวะเพศ จะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบอักเสบ เป็นต้น

ข. มีการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง ซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อของเนื้อ เยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เมื่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงนั้นเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเชื้อลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้วย ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่ติดเชื้อนี้ จะมีลักษณะ

  • บวม แดง เจ็บ อาจเป็นหนอง
  • หรือ เป็นการติดเชื้อโดยตรงของต่อมน้ำเหลืองนั้น ซึ่งการติดเชื้อโดยตรงนี้ ต่อมน้ำเหลืองมักมีการอักเสบ โต หลายต่อมพร้อมกัน และมักมีลักษณะเหมือนสายลูกประคำ เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือในโรคเอดส์

ค. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่สาเหตุไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น

  • ในโรคออโตอิมูน
  • ในโรคมะ เร็ง (ลักษณะสำคัญคือ ต่อมน้ำเหลืองจะไม่ค่อยเจ็บ และจะโตขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว มักมีขนาดโตมากกว่า 1 เซนติเมตร)
  • ผลข้างเคียงจากยา/ อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด หรือจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น
    • ยากันชัก Phenytoin
    • ยารักษาลดความดันโรคหิตสูง Atenolol
    • ยาลดกรดยูริคในเลือด/ ยายับยั้งการสร้างกรดยูริค และยาโรคเกาต์ เช่น ยา Allopurinol เป็นต้น

ง. ประมาณ 0.5 - 1% ของผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยต่อมน้ำเหลืองอักเสบ/ต่อมน้ำเหลืองโดยแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ได้แก่

  • มีแผลและ/หรือการอักเสบในอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ช่องปาก อวัยวะเพศ
  • มีการติดเชื้อในอวัยวะระบบต่างๆของร่างกาย
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอดส์
  • ผู้ป่วยมะเร็ง

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยที่สุดของต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ มีต่อมน้ำเหลืองโตจนคลำพบได้ ซึ่งอาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้

นอกจากนั้น อาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 เซนติเมตร ไม่เจ็บร่วมกับโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มักเป็นอาการจากโรคมะเร็ง และมักเกิดร่วมกับอาการจากโรคมะเร็งนั้นๆ
  • หรือการมีต่อมน้ำเหลืองโตหลายต่อมขนาด 1 - 2 เซนติเมตร โดยโตเป็นสายคล้ายลูกประคำ ที่มักพบเกิดจากโรคของต่อมน้ำเหลืองเอง เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง โรค ออโตอิมมูน โรคเอดส์
  • หรือ อาการจากการมีแผลหรือการอักเสบของอวัยวะใกล้เคียง เช่น โรคเหงือก, ฟันผุ, หรือ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ร่วมด้วยเมื่อมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่นใน โรคหวัด โรคหัด หรือ ต่อมน้ำเหลือง โต บวม แดง เจ็บ เป็นหนอง ที่มีสาเหตุเกิดจากต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ โดยที่ต่อมโตขึ้นเรื่อยๆ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว หรือโตเป็นสายคล้ายสายลูกประคำ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น ประวัติอาการ การใช้ยา การมีแผล โรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอวัยวะที่มีอาการ (เช่น การตรวจช่องปาก)
  • การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือด พื่อการวินิจฉัยโรคเอดส์
    • การตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ ที่อาจร่วมกับการเจาะ/ดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • และ/หรือการตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบอย่างไร?

การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ และ/หรือ การรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ ที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ

  • การหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาเมื่อสาเหตุเกิดจากยา
  • การทำฟัน เมื่อสาเหตุเกิดจากฟันผุ
  • การรักษาแผลต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากแผล
  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การรักษาวัณโรคเมื่อสา เหตุเกิดจากเชื้อวัณโรค
  • และการรักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การให้ยาแก้ปวด ถ้ามีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองมาก
  • การให้ยาลดไข้ เมื่อมีอาการไข้ร่วมด้วย เป็นต้น

อนึ่ง ทั่วไป กรณีต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่มีขาดเล็ก(มักโตไม่เกิน 1 ซม.) ที่ไม่ก่ออาการ และต่อมฯไม่โตขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา เพราะจะไม่ก่ออาการ และไม่กลายเป็นมะเร็ง ต่อมฯจะค่อยๆยุบหายไปเองในระยะเวลานานหลายๆเดือน หรืออยู่คงที่ตลอดไปจากมีพังผืดเข้ามาแทนที่เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อเล็กได้

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เช่น

  • อาการเจ็บต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบ
  • ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบเกิดหนอง/เป็นฝีแตก
  • การเสียภาพลักษณ์เมื่อต่อมน้ำเหลืองอักเสบโตจนมองเห็นได้
  • และความกังวลกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไปสาเหตุต่อมน้ำ เหลืองอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อ จึงมักรักษาได้หายเสมอ

อนึ่ง มีการศึกษารายงานว่า ในผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ/ต่อมน้ำเหลืองโต เมื่อวินิจฉัยโดยการตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

  • ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบสาเหตุจากโรคมะเร็งประมาณ 1 - 4%
  • ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี พบสาเหตุจากโรคมะเร็งประมาณ 0.4%

อย่างไรก็ตาม ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ สามารถเกิดเป็นซ้ำได้โดยขึ้นกับสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อ หรือจากผลข้างเคียงของยา

*นอกจากนั้น ที่ควรรู้อีกประการคือ ภายหลังการรักษาหายแล้ว มักจะยังคลำต่อมน้ำเหลืองได้ตลอดไป ทั้งนี้เกิดจากการมีพังผืดเกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลืองนั้นๆ โดย

  • คลำได้เป็นก้อนเล็กๆ มักไม่เจ็บ
  • แต่ก้อนจะไม่โตขึ้น (แต่อาจโตขึ้น ถ้ามีการอักเสบเกิดซ้ำอีก)

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ

ก. การดูแลตามสาเหตุนั้นๆ (เช่น การดูแลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น)

ข. ร่วมกับการดูแลสุขภาพทั่วไป ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษาความสะอาดต่อมน้ำเหลืองส่วนนั้น ไม่คลำบ่อย ไม่เกา เพราะจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจากการได้รับสารอา หารที่ครบถ้วน
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ดูแลตนเองตามสาเหตุของโรค เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค เป็นต้น
  • ถ้ามีการพบแพทย์แล้ว
    • ควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
    • และกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง
    • ร่วมกับพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นต่อเนื่อง
    • มีอาการที่ผิดไปจากเดิม เช่น มีต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นใหม่หลายต่อม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น หรือท้องเสียเรื้อรัง
    • และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ การป้องกันสาเหตุ ที่สำคัญเพราะเป็นสาเหตุหลักของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ ป้องกันการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

นอกจากนั้น คือ

  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
  • ดูแลรักษาความสะอาดผิวหนัง ระวังไม่ให้ติดเชื้อ และ/หรือเกิดแผล เช่น แผลจากการเกา
  • รักษาความสะอาดเล็บเสมอ และควรตัดเล็บให้สั้นโดยเฉพาะ ในเด็ก และในผู้ป่วย
  • ไม่ใช้ยาต่างๆโดยไม่จำเป็น
  • เมื่อจำเป็นต้องซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Bazemore, A. et al (2002). Am Fam Physician. 66, 2103-2110.
  2. Dulin,M. et al. (2008). Am Fam Physician. 78, 1097-1098.
  3. Ferrer,R. (1998). Am Fam Physician. 58, 1313-1320.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/960858-overview#showall [2019,April13]
  5. https://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/infectious_diseases/lymphadenitis_134,80 [2019,April13]