ตั้งเป้าปีใหม่ บำบัดให้ได้ 4 แสนคน

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าลดความรุนแรงปัญหายาเสพติดลงให้ได้ภายใน 1 ปี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2555 สธ. จะต้องบำบัดผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดทุกประเภทให้ได้อย่างน้อย 4 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่ง สธ. ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดสามารถให้การบำบัดรักษาได้ทุกแห่ง รวมทั้งมีระบบการติดตามผลในแต่ละชุมชน

ความพยายามของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการควบคุมยาเสพติด ผ่านโยบายของการสั่งห้ามลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และการกำจัดยาเสพติดให้โทษ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ อาทิ รัฐบาลอเมริกันได้ใช้ทรัพยาการมหาศาลผ่านมาตรการทางกฎหมาย (มากว่าสาธารณสุข) แต่แหล่งกระจายยาเสพติดให้โทษยังมีเป็นจำนวนมากอยู่ตลอดเวลา

ผลจากการสำรวจ “จับตาอนาคตปี พ.ศ. 2553” (2010 Monitoring the Future) ทั่วสหรัฐอเมริกา พบว่า 48.2% ของนักเรียนมัธยมปีสุดท้าย ยอมรับว่าได้เสพยาที่ผิดกฎหมาย ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตของเขา

แม้จะมีมาตรการทางกฏหมาย (หรืออาจเป็นเพราะมีมาตรการนี้) องค์การผูกขาดเสพติดให้โทษขนาดใหญ่ได้มีปฏิบัติการในระดับโลก ผู้คัดค้านมาตรการดังกล่าว โต้เถียงว่า การทำให้สิ่งเสพติดให้โทษเป็นความผิดอาญา ทำให้ปฏิบัติการดังกล่าว กลายเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรงาม นำไปสู่กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

ส่วนการบำบัดสิ่งเสพติดให้โทษ เป็นมาตรการสำคัญสำหรับหลายๆ ประเทศทั่วโลก การแทรกแซง (Intervention) อย่างเป็นทางการเป็นสิ่งจำเป็นในการชักจูงให้ผู้เสพยอมรับการบำบัด ซึ่งอาจเป็นรูปแบบทางจิตวิทยาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้กินยา (Medication) เพื่อลด หรือเลิกการเสพ

การลดสิ่งเสพติดให้โทษจะลดความเสี่ยงของการตายก่อนวัยอันควร และลดความเสี่ยงทางสุขภาพ อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในเด็กและวัยรุ่น (Adolescent) การบำบัดด้วยพฤติกรรมที่รับรู้ (Cognitive behavioral therapy : CBT) เป็นรูปแบบที่ได้ผล ตามข้อมูลจากการศึกษาวิจัยต่างๆ

อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหาสิ่งเสพติดให้โทษที่ดีที่สุด คือ มาตรการป้องกันใน 3 ระดับ ในการป้องกันระดับตนเอง จะต้องไม่ทดลองยาเสพติดทุกชนิด และพยายามปลีกตัวออกห่างจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ หากมีปัญหาหรือข้อกังวลใจ ก็ให้ปรึกษาผู้ใหญ่ (อาจเป็นพ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์) แล้วใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อาทิ อ่านหนังสือ เล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรก ตามความสนใจและความถนัด นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ

ในการป้องกันระดับครอบครัว หมั่นสอดส่องดูแลสมาชิกในมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ระมัดระวังการคบเพื่อน ควรส่งเสริมให้เด็กและวัยรุ่นรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อาทิ การช่วยทำงานบ้าน และทำงานอดิเรก เพื่อป้องกันมิให้เขาหันเหไปสนใจในยาเสพติด นอกจากนี้ ทุกคนในครอบครัวควรสร้างความผูกพันด้วยความรักและความเข้าใจ

ในการป้องกันระดับชุมชน ควรช่วยเหลือแนะนำ หากพบผู้ติดยาเสพติด โดยให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายยกเว้นโทษให้ผู้สมัครใจเข้าขอรับการบำบัดรักษา ก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เมื่อทราบเบาะแสผู้กระทำผิดฐานนำเข้าหรือส่งออก และจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. ตั้งเป้าปี 55 บำบัดให้ได้ 4 แสนคน http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000163524&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, January 1].
  2. Substance abuse. http://en.wikipedia.org/wiki/Substance_abuse [2012, January 3].
  3. สิ่งเสพติด http://th.wikipedia.org/wiki/สิ่งเสพติด [2012, January 3].