ตั้งครรภ์เกินกำหนด (Postterm pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การตั้งครรภ์เกินกำหนดคืออะไร?

อายุครรภ์ที่แม่นยำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่แพทย์ใช้วางแผนการดูแลสตรีตั้งครรภ์ว่า ควรจะให้คลอดหรือควรยับยั้งการคลอดไว้ก่อนหากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด และในทางตรงกันข้าม แพทย์ก็ต้องรีบเร่งให้มีการคลอดหากสตรีตั้งครรภ์นั้นตั้งครรภ์เกินกำหนด

อายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดที่ทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ คืออายุครรภ์ระหว่าง 37 สัปดาห์ถึง 41 สัปดาห์ และอีกไม่เกิน 6 วัน เมื่อคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาอย่างปกติ หากตั้งครรภ์ตั้งแต่ 42 สัปดาห์ขึ้นไป (294 วัน) จัดว่าเป็น “การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post term pregnancy)” ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง/ผลกระทบทั้งกับมารดาและทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น แต่หากประจำเดือนมาไม่แน่นอน แพทย์อาจมีการตรวจยืนยันอายุครรภ์โดยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ตั้งแต่ในช่วงการตั้งครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์

การตั้งครรภ์เกินกำหนดพบได้ไม่มาก พบได้ประมาณ 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะคลอดก่อนวันนัด 1-2 สัปดาห์ และมีสตรีตั้งครรภ์ประมาณ 5 % ที่คลอดตรงกับวันที่แพทย์นัดพอดี

ผลกระทบของการตั้งครรภ์เกินกำหนดมีอะไรบ้าง?

ตั้งครรภ์เกินกำหนด

ผลกระทบ/ผลข้างเคียงของการตั้งครรภ์เกินกำหนด พบได้ทั้งกับมารดา และกับทารกในครรภ์

1. ด้านมารดา:

  • ในกรณีที่รกยังทำงานได้ปกติ ทารกในครรภ์จะเติบโตขึ้น ทำให้ตัวโต คลอดยาก มารดาจึงมีความเสี่ยงต่อการทำสูติศาสตร์หัตถการ เช่น การผ่าตัดคลอดบุคร การใช้เครื่องดูดสุญญากาศช่วยการคลอด หรือ การใช้คีมช่วยการคลอด
  • ในกรณีที่รกเสื่อม (เพราะอายุครรภ์เกินกำหนด) ทารกในครรภ์จะขาดแคลนออกซิเจนเรื้อรัง (Chronic hypoxia) ทารกจะไม่เจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็น (Intrauterine growth restriction) น้ำคร่ำจะน้อยลง เมื่อมดลูกหดรัดตัว ทำให้ทา รกยิ่งขาดออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ทารกอยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress, หัวใจเต้นผิดปกติ) มารดาจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกทำสูติศาสตร์หัตถการ เช่น การผ่าตัดคลอด การใช้เครื่องดูดสุญญากาศฯ การใช้คีมช่วยคลอด
  • มีการฉีกขาดมากขึ้นของช่องทางคลอดจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นของทารก
  • มีโอกาสตกเลือดหลังคลอดสูงกว่าครรภ์ปกติ จากมดลูกหดตัวไม่ดี และ/หรือ บาด แผลจากช่องทางคลอด

2. ด้านทารก:

  • มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ ยิ่งตั้งครรภ์เกินกำหนดมากขึ้นเท่าใด โอกาสจะเสียชีวิตของทารกจะมีมากยิ่งขึ้น
  • มีความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำของทารก ทารกจะติดเชื้อทางเดินหายใจหลังคลอดได้สูง
  • ภาวะเครียดของทารก (Fetal distress, การเต้นของหัวใจผิดปกติ) ทารกอาจเสียชี วิตได้
  • เสี่ยงต่อการบาดเจ็บในขณะคลอด เช่น บาดเจ็บที่เส้นประสาทแขน (Brachial plexus injury) ในกรณีที่ทารกตัวโตจนมีไหล่ติดในมดลูกขณะคลอด

ทำไมถึงเกิดการตั้งครรภ์เกินกำหนด?

สาเหตุที่ทำให้ตั้งครรภ์เกินกำหนดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีบางสมมุติฐานว่า

  • เกิดจากการไม่สมดุลของฮอร์โมนที่พบในทารกในครรภ์ที่พิการบางอย่าง เช่น ทารกที่ไม่มีกะโหลกศีรษะ (Anencephalous) พบว่ามีการตั้งครรภ์เกินกำหนดบ่อย
  • พันธุกรรม อาจเป็นสาเหตุของการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด พบว่าอิทธิพลทางฝ่ายมารดาในการตั้งครรภ์เกินกำหนดจะมีมากกว่าจากทางฝ่ายบิดา
  • แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์เกินกำหนด คือ
    • การที่สตรีตั้งครรภ์จำประวัติประจำเดือนได้ไม่แม่นยำ ทำให้คำนวณอายุครรภ์ผิดไป

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกินกำหนด?

ปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกินกำหนด ได้แก่

  • ทารกในครรภ์มีความพิการ
  • การตั้งครรภ์แรก
  • มีประวัติตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน หรือในครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวฝ่ายหญิง
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • ไม่ทราบสาเหตุ

แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์เกินกำหนด?

ในกรณีที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอก่อนตั้งครรภ์ อายุครรภ์ จะเป็นไปตามที่แพทย์คำนวณไว้ หากเกินวันที่แพทย์นัดคลอดไปมากกว่าหรือเท่ากับ 14 วัน ก็จะจัดว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด

แต่ในกรณีที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์มักจะทำการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรกๆ เพื่อจะดูอายุครรภ์ที่แน่นอน การตรวจอัลตราซาวน์ตอนอายุครรภ์น้อยๆ จะบอกอายุทารกในครรภ์ได้แม่นยำมากกว่ามาตรวจตอนอายุครรภ์มากแล้ว ซึ่งเมื่อแพทย์กำหนดวันคลอดแล้วจากการตรวจอัลตราซาวด์ จะไม่มีการเปลี่ยนวันกำหนดคลอดตามขนาดทารกอีก ซึ่งหากตรวจพบว่าทารกตัวเล็ก ก็ต้องหาสา เหตุต่อไปว่าเกิดจากอะไร ใช่จากการนับอายุครรภ์ไม่ถูกต้องหรือไม่

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์เกินกำหนด?

เมื่อถึงวันที่แพทย์คำนวณว่าอายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์สามารถคลอดได้แล้ว แต่ยังไม่มีอา การเจ็บครรภ์ ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก ควรต้องไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจครรภ์มารดา และจะนัดตรวจทุกสัปดาห์เพื่อประเมินสุขภาพทารกในครรภ์

ขณะอยู่บ้าน: สตรีตั้งครรภ์ต้องสังเกตและนับลูกดิ้นให้ดี ซึ่งทารกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมง หากดิ้นน้อยกว่านั้น ควรรีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

โดยทั่วไปเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อประเมินสภาพปากมด ลูกว่าสุกหรือยัง (พร้อมที่จะคลอด) บางครั้งอาจกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว โดยใช้นิ้วที่ตรวจภายในเซาะเยื่อหุ้มรกออกจากโพรงมดลูก (Membrane stripping) เมื่อสตรีตั้งครรภ์เกิดความรู้สึกว่ามด ลูกหดตัวถี่ ก็เตรียมตัวไปคลอด

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานข้อมูลงานวิจัยพบว่า อายุครรภ์ที่มากกว่า 42 สัปดาห์ มีอันตรายต่อทารกและมารดาเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันแพทย์จึงมักจะทำการเร่งคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ขึ้นไป มักไม่ได้รอจนถึง 42 สัปดาห์

เมื่อครบกำหนดคลอดแต่ยังไม่เจ็บครรภ์คลอดต้องผ่าตัดคลอดไหม?

เมื่ออายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์แต่ยังไม่เจ็บครรภ์คลอด ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด สามารถรอได้อีกประมาณ 1 สัปดาห์ โดยที่ต้องสังเกตลูกดิ้นให้ดี ในบางครั้งแพทย์ตรวจภายในและทำ Stripping membrane ถ้าทำได้ นอกจากนั้น แพทย์อาจส่งตรวจคลื่นหัวใจทารกในครรภ์ เพื่อดูความสัมพันธ์ของการเต้นของหัวใจกับการดิ้นของทารก (Non stress test) ซึ่งถ้าผลออกมาปกติ บ่งบอกว่าทารกน่าจะไม่มีปัญหาภายใน 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม หากอายุครรภ์ 41 สัปดาห์แล้วยังไม่เจ็บครรภ์คลอด แพทย์ส่วนใหญ่จะทำการเร่งคลอด ตามหลักฐานข้อมูลที่มีในปัจจุบันเพื่อลดอันตรายทั้งต่อตัวมารดาและกับทารก

การเร่งคลอดทำได้อย่างไร?

การเร่งให้เจ็บครรภ์/การเร่งคลอดสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  • การเหน็บ ยา Misoprostol ในช่องคลอด จะช่วยให้มดลูก ปากมดลูกนุ่ม สามารถขยาย ตัวได้เร็ว ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกมีการหดรัดตัว ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดตามมา
  • การผสมยา Oxytocin 10 unit ในน้ำเกลือและหยดเข้าหลอดเลือดดำ จะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดรัดตัว
  • การเจาะถุงน้ำคร่ำให้แตก จะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดรัดตัว

การคลอดทารกอายุครรภ์เกินกำหนดต้องระวังอะไร?

การคลอดทารกอายุครรภ์เกินกำหนดต้องระวังภาวะดังต่อไปนี้

  • สายสะดือถูกกด ทารกในครรภ์ที่เกินกำหนด มักมีปัญหาการขาดออกซิเจนเรื้อรังอยู่แล้ว เพราะรกเสื่อมลง ทำให้เลือดส่งไปยังทารกลดลง บางอวัยวะของทารกอาจเจริญเติบโตได้ลดลง, และน้ำคร่ำมีน้อย เมื่อเข้าสู่กระบวนการเจ็บครรภ์จริง มีการหดรัดตัวของมดลูกมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้สายสะดือถูกกดจากตัวทารกได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะ Fetal distress/ทา รกขาดออกซิเจน/หัวใจเต้นผิดปกติ ได้ง่าย ดังนั้น แพทย์จึงต้องให้การดูแลอย่างระมัดระวัง และให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
  • ทารกสำลักน้ำคร่ำ ในการตั้งครรภ์ครบกำหนด บางครั้งทารกอาจมีการถ่ายขี้เทา (Meco nium) ออกมาในน้ำคร่ำได้ แต่จะพบได้บ่อยกรณีที่ทารกขาดออกซิเจนเรื้อรัง (เช่น อายุครรภ์เกินกำหนด) หูรูดทวารหนักของทารกจะคลายตัว ทำให้มีขี้เทาออกมาผสมอยู่ในน้ำ คร่ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากทารกมีการสำลักน้ำคร่ำเข้าไปในปอด จะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงได้

หลังคลอดเมื่ออายุครรภ์เกินกำหนดมารดาจะเป็นอย่างไร?

มารดาที่คลอดเมื่ออายุครรภ์เกินกำหนด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม เช่น มดลูกติดเชื้อ หรือตกเลือดหลังคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดบุตร การดูแลเหมือนสตรีหลังคลอดปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด)

ควรดูแลตนเองหลังคลอดอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังคลอด จะเหมือนในสตรีหลังคลอดทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor .com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด)

น้ำคาวปลาไหลปกติ เป็นสีแดงในสัปดาห์แรก แล้วสีค่อยๆจางลง ปริมาณลดลง และ สามารถให้นมบุตรได้กรณีที่ทารกไม่มีปัญหา

แพทย์จะนัดมาตรวจหลังคลอด 6 สัปดาห์ ต้องงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ จนกว่าจะมาตรวจหลังคลอด และรับการคุมกำเนิด

สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ควรเว้นไประยะประมาณ 2-3 ปีเหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป เพื่อ

  • ให้มารดามีโอกาสเลี้ยงดูบุตรให้เต็มที่
  • เพื่อให้สุขภาพมารดาแข็งแรง
  • และเมื่อมีการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ควรบอกแพทย์ที่ดูแลเรื่องการตั้งครรภ์เกินกำหนด เพราะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์เกินกำหนดซ้ำได้อีก

เด็กคลอดเกินกำหนดเจริญเติบโตเหมือนเด็กทั่วไปไหม?

เด็กคลอดเกินกำหนด แรกคลอดมักมีผิวหนังเหี่ยวย่น เล็บยาว การทำงานของอวัยวะต่างๆพัฒนาเต็มที่ หากไม่มีปัญหาการขาดออกซิเจนตอนคลอด การเจริญเติบโตหลังคลอดจะเหมือน กับเด็กทั่วไป ทั้งเมื่อเป็นทารกและเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องดูแลโดยเฉพาะเหมือนเด็กคลอดก่อนกำหนด

สามารถป้องกันการตั้งครรภ์เกินกำหนดได้หรือไม่?

สามารถป้องกันการตั้งครรภ์เกินกำหนดได้ หากไปฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด

  • เพื่อการคำนวณอายุครรภ์ได้ถูกต้อง
  • เพื่อการเซาะเยื่อหุ้มทารกโดยแพทย์ เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด
  • เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกและมีการคลอดตามมา
  • หรือมีการเร่งคลอดด้วยวิธีอื่นๆ

ในกรณีตั้งครรภ์ตั้งแต่ 41 สัปดาห์ขึ้นไปโดยไม่รอจนครรภ์เลยกำหนดคลอดหรือรอเจ็บครรภ์เอง

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/261369-overview#showall [2019,Aug10]
  2. https://www.aafp.org/afp/2005/0515/p1935.html [2019,Aug10]