คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง : ขั้นตอนการทำงานของแพทย์รักษามะเร็ง
ตอนที่ 2 การตัดชิ้นเนื้อ

การตัดชิ้นเนื้อจาก เนื้อเยื่อ ส่วนที่ผิดปกติ หรือ ตัดจาก ก้อนเนื้อ หรือจากแผลที่แพทย์สงสัยว่าเป็น มะเร็ง เรียกว่า biopsy (ไบออพซี่) หลังจากนั้น การตรวจชิ้นเนื้อจะผ่านขั้นตอนการตรวจโดยแพทย์สาขาพยาธิวิทยา เรียกว่า การตรวจทางพยาธิวิทยา (Pathology) ที่เรามักได้ยินในแวดวงแพทย์เรียกว่า “ปาโถ” เป็นการตรวจที่ให้ผลแม่นยำ สามารถระบุได้ว่า เป็นเนื้อปกติ เนื้ออักเสบ ติดเชื้อหรือไม่ ถ้าติดเชื้อ น่าเกิดจากเชื้ออะไร หรือ เป็นเนื้อมะเร็ง และเป็นมะเร็งชนิดใด เซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีการแบ่งตัวเร็ว หรือช้า แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้ง ถ้าชิ้นเนื้อทีตัดออกมา ไม่พบเซลล์มะเร็ง แต่ลักษณะโรคผู้ป่วยเหมือนโรคมะเร็งมาก แพทย์ก็จะต้องตัดชิ้นเนื้อซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันความถูกต้องของการตรวจ

ดังนั้น เพื่อลดโอกาสตัดชิ้นเนื้อไม่ถูกตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็ง (ดังกล่าวแล้ว เซลล์มะเร็งอยู่ปะปนไปกับเซลล์ปกติ) ถ้าเป็นเนื้อเยื่อบางชนิด หรือ แผล หรือ ก้อนผิดปกติมีขนาดเล็ก แพทย์จึงตัดออกทั้งก้อน/ทั้งแผลเลย เรียกว่า ผ่าตัดเล็ก หรือ Excisional biopsy หรือบางครั้ง ถ้าก้อน หรือแผลอยู่ลึก แพทย์อาจต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ ซึ่งขั้นตอนนี้ จะให้การตรวจวินิจฉัยโดยศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นระบบนัดอีกเช่นกัน ใช้เวลา อีก เป็นสัปดาห์ และการอ่านผลชิ้นเนื้อของพยาธิแพทย์ก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์เช่นกัน รวมตั้งแต่มีอาการไปพบแพทย์ จนทราบผลชิ้นเนื้อ ใช้เวลาอย่างน้อย 3-8 สัปดาห์

และบางครั้ง ถ้าเป็นโรคมะเร็งระยะที่ซับซ้อน หรือชนิดที่พบได้น้อย พยาธิแพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งก็จะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นอีกในการวินิจฉัย และบางครั้งอาจต้องส่งไปตรวจต่างประเทศที่มีห้องตรวจที่ทันสมัยกว่าแต่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่บอยนัก

ทั้งนี้หลังจากทราบผลชิ้นเนื้อว่า เป็นมะเร็งแล้ว จะต้องทำอย่างไรอีก จะคุยให้ฟังตอนหน้านะคะ