คุยกับหมอรักษามะเร็ง: ขั้นตอนการทำงานของแพทย์รักษามะเร็ง
ตอนที่ 1 การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

แพทย์โรคมะเร็งจะทำงานเป็นทีมเสมอ หมายถึง ประกอบด้วยแพทย์หลายสาขา หลักคือ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา และรังสีรักษาแพทย์

เนื่องจาก สาเหตุเกิดโรคมะเร็งยังไม่ทราบชัดเจน ที่ทราบคือ ปัจจัยเสี่ยง แต่จากการศึกษาเชื่อแน่ว่าต้องเกิดจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน

ดังนั้นในการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์อาจมีความเห็นทางการรักษาแตกต่างกันได้ เช่น อาจผ่าตัดก่อน หรือ อาจให้รังสีรักษา หรือ ให้เคมีบำบัดก่อน แล้วจึงผ่าตัด หรือ การเลือกใช้ชนิดยาเคมีบำบัดไม่เหมือนกัน หรือการเลือกใช้ปริมาณรังสีรักษาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละการฝึกอบรมของแพทย์ว่า มีแนวรักษาโรคมะเร็งชนิดนั้นๆอย่างไร

ท่านผู้อ่านไม่ต้องแปลกใจ หรือ คลางแคลงใจ เมื่อปรึกษาแพทย์หลายคนแล้วแต่ละคนมีความเห็นทางการรักษาไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นแพทย์ต่างโรงพยาบาลกัน สรุปก็คือ เป็นการรักษาที่ถูกต้องทุกโรงพยาบาล ใครชำนาญอย่างไรก็เลือกวิธีนั้น ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งจึงมักเป็นทีมแพทย์ที่มีความเห็นในการรักษาสอดคล้องกัน ทางแพทย์เรียกว่า ขึ้นกับว่า “ฝึกอบรมมาจาก school ไหน”

การรักษาโรคมะเร็ง เป็นเรื่องซับซ้อนกว่าการรักษาโรคทุกชนิด ด้วยลักษณะโรคที่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เข้า ต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต โดยที่เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ของเรานั่นเอง แต่เราควบคุม การตาย และการเจริญเติบโตของเซลล์เหล่านี้ไม่ได้ ดังนั้นเซลล์เหล่านี้ จึงอยู่ปะปนไปกับเซลล์ปกติ ซึ่งส่งผลให้การรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะวิธีการใด จึงต้องมี ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเสมอ ไม่มาก ก็น้อย

นอกจากนั้น โรคมะเร็งยังมีอาการไม่จำเพาะ กล่าวคือ อาการจะเหมือนกับโรคทั่วไป โดยเฉพาะโรคต่างๆที่เกิดจากการอักเสบ และอาการก็จะแตกต่างกันไป ตามหน้าที่ หรือตามระบบของอวัยวะนั้นๆ (เช่น ไอ เมื่อเป็นมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ หรือ ท้องผูก หรือ ท้องเสียเรื้อรังเมื่อเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใน ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น) อาการของโรคมะเร็งจึงไม่แน่นอน รวมทั้งการมี ก้อน หรือมีแผลก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นโรคมะเร็ง เพราะอาจเป็นก้อนเนื้องอก ธรรมดา ก้อนไขมัน ก้อนพังผืด หรือแผลจากการติดเชื้อเรื้อรัง เป็นต้น

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคมะเร็ง จึงเริ่มจากผู้ป่วยพบแพทย์ทั่วไปก่อน จากอาการที่เหมือนๆกับโรคทั่วไป เมื่อแพทย์ทั่วไปตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมอื่นๆแล้ว สงสัยโรคมะเร็ง ก็มักจะส่งต่อให้ศัลยแพทย์ อาจเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปหรือ ศัลยแพทย์อนุสาขา เช่น เมื่อเอกซเรย์ปอด พบก้อนเนื้อในปอดก็จะส่งผู้ป่วยปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอก เป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นดังนี้เสมอไป เพราะบาง school/ทีม อาจส่งต่อผู้ป่วยให้ อายุรแพทย์โรคปอด เพื่อส่องกล้องแล้วตัดชิ้นเนื้อ หรือบางครั้งอาจส่งผู้ป่วยให้แพทย์ รังสีร่วมรักษา เพื่อการเจาะ/ดูดก้อนในปอด เพื่อให้ทราบว่า เป็นโรคอะไร ใช่มะเร็งหรือไม่ โดยขั้นตอนเหล่านี้ จะเป็นการนัดตรวจล่วงหน้าเสมอ ไม่สามารถให้การตรวจรักษาได้ทันทีในวันนั้น ที่เร็วที่สุดที่จะได้พบแพทย์ที่ปรึกษาก็ประมาณ 2-3 วัน ทั่วไปจะประมาณ 1-2 สัปดาห์ (ขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาล)

แพทย์ที่ได้รับปรึกษา เมื่อตรวจแล้ว ก็อาจต้องมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจภาพ เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ผิดปกติ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ ซึ่งก็ต้องตรวจที่แผนกเอกซเรย์/รังสีวินิจฉัย จึงต้องเป็นการนัดตรวจอีก อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 2-3 วัน ทั่วไปก็ 2 สัปดาห์ บางโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมาก (ผู้ป่วยทุกโรคไม่ใช่เฉพาะโรคมะเร็ง) แพทย์รังสีวินิจฉัยน้อย ก็ต้องใช้เวลานัดเป็นเดือน

เมื่อได้ภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ผิดปกติแล้ว แพทย์ที่รับปรึกษาก็ต้องประเมินร่วมกับการตรวจร่างกายผู้ป่วย อายุ สุขภาพ และโรคอื่นๆของผู้ป่วย เพื่อดูว่าวิธีการอะไรจึงจะเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเพื่อการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา หรือการตรวจเซลล์ทาง เซลล์วิทยาเท่านั้นที่จะวินิจฉัยว่าใช่โรคมะเร็งหรือไม่

วันนี้จบที่การจะตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งนะคะ ตอนต่อไป ก็ยังอยู่ที่ขั้นตอนการให้ได้การวินิจฉัยโรคมะเร็งคะ