ตรุษจีนระวังภัย ไข้หวัดนก (ตอนที่ 3)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานซืน ด้วยความห่วงใยประชาชนจากโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ โดยจะมีการซักประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่ที่สัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ทุกราย

ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดนกเป็นสายพันธุ์ชนิด A ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อย (Subtype) H5N1 ที่เป็นความกังวลของทั่วโลก เพราะเป็นภัยคุกคามมีศักยภาพที่จะระบาดไปทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหวั่นเกรงการเกิดร่วมกันของไวรัสไข้หวัดในคนและในสัตว์ปีกของ H5N1 เนื่องจากเป็นโอกาสของการติดต่อระหว่างสายพันธุ์ทั้งสองรูปแบบ จนอาจจะกลายพันธุ์เป็นโรคติดต่อจากคนถึงคนได้ง่าย และเป็นอันตรายถึงชีวิต

ส่วนใหญ่แล้วคนติดเชื้อไข้หวัดนก มักเป็นผลจากการคลุกคลีกับสัตว์ปีกที่ตายด้วยโรคดังกล่าว หรือจากการสัมผัสกับสารคัดหลัง (Fluids) ในร่างกายที่ติดเชื้อ [อาทิ เสมหะ น้ำลาย และเลือด] ตามปรกติ สัตว์ปีกที่อาศัยอยู่ในป่า มักมีสายพันธุ์ H5N1 ที่ไม่รุนแรง แต่เมื่อสัตว์ปีกที่เลี้ยงในบ้าน (อาทิ ไก่ เป็ด ห่าน หรือนก) ติดเชื้อดังกล่าว H5N1 ก็สามารถกลายเป็นสายพันธุ์ที่ร้ายแรง และการที่สัตว์ปีกดังกล่าวมักต้องอยู่ใกล้ชิดกัน จึงแพร่เชื้อได้รวดเร็ว

ปัจจุบัน โรคนี้เป็นภัยคุกคามในเอเชีย เพราะสัตว์ปีกเลี้ยงมักอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยที่แออัด จึงมักติดเชื้อจากสภาพที่มีสุขอนามัยต่ำ แม้การติดเชื้อจากสัตว์ปีกไปสู่คน อาจเกิดขึ้นได้ง่าย แต่การติดเชื้อจากคนไปสู่คน ตามปรกจะเป็นไปได้ยาก หากปราศจากการใกล้ชิดและสัมผัสกัน

การแพร่ระบาดของ H5N1 จากเอเชียสู่ยุโรป มีสาเหตุจากการค้าสัตว์ปีกข้ามพรมแดน (ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) มากกว่าการกระจายของเชื้อโรคที่นำพาโดยฝูงนกป่าที่อพยพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งยืนยันจากผลการศึกษาแล้วว่า ไม่มีการระบาดในรอบสองเมื่อฝูงนกป่าบินอพยพไปทางใต้ของเอเชีย จากถิ่นกำเนิดเดิมของมัน

แต่กลับมีรูปแบบ (Pattern) ของการติดเชื้อไปตามเส้นทางการขนส่ง อาทิ รางรถไฟ ถนนหนทาง และตามชายแดนของประเทศที่มีการค้าสัตว์ปีก ในขณะที่สายพันธุ์ของไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อาทิ ในรัฐเท็กซัส ในปี พ.ศ. 2547 ได้ถูกระงับอย่างสิ้นเชิง และไม่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อในคนอีกต่อไป

การอพยพของสัตว์ปีก เป็นเหตุผลเดียวที่อธิบายความสำคัญของไข้หวัดนก จนกระทั่ง H5N1 เริ่มติดเชื้อในคนในทศตวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533) หลังจากนั้นไข้หวัดนกก็ได้รับการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้ การเปลี่ยนแปลง [ปฎิบัติการ] ในฟาร์มสัตว์ปีก การเปลี่ยนแปลงในการฉีดวัคซีน รวมทั้งการวิจัยและเปลี่ยนแปลงในการวางแผนรับมือกับการระบาดของโรคไปทั่วโลก

H5N1 ได้วิวัฒนามาเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีอัตราความร้ายแรงที่สูงกว่าสายพันธุ์เก่า และยังคงดำเนินต่อไปจนกลายเป็นเชื้อโรคที่แพร่กระจายได้กว้างไกลขึ้นและมีอันตรายสูงขึ้น และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ Robert G. Webster ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคไข้หวัดนก ตีพิมพ์บทความของเขาลงนิตยสารชื่อ “นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน” (American Scientist)

ในบทความนั้น เขาเรียกร้องให้จัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ เพื่อใช้ในการต่อสู้กับภัยคุกคามระดับโลก ซึ่งอาจคร่าชีวิตจำนวนนับพันล้านคนได้ ปรากฏว่า ชุมชนทั่วโลก (World communities) ตอบรับการเรียกร้องของเขาด้วยการใช้เงินนับพันๆ ล้านดอลลาร์ในการต่อสู้ภัยคุกคามดังกล่าว แต่ก็ยังประสบผลสำเร็จอยู่ในวงจำกัด

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.แนะนำผู้บริโภคสัตว์ปีกตรุษจีนเน้นสุกสะอาดปลอดหวัดนก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000009486 [2012, January 25].
  2. Avian influenza. http://en.wikipedia.org/wiki/Avian_influenza [2012, January 25].