ดื้อยาแอนติไบโอติค (ตอนที่ 2)

ดื้อยาแอนติไบโอติค

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนระบบบริการและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ดำเนินการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยามาประมาณ 3 ปีแล้ว โดยกำหนดเกณฑ์คุณภาพต่อการใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาล ซึ่งจากเดิมพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 กลุ่มโรคคือ หวัด ท้องเสีย และบาดแผลเล็กน้อย มากถึงร้อยละ 60-80

โดยสถานพยาบาลที่สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 กลุ่มโรคนี้ลงได้ต่ำกว่าร้อยละ 40 ก็จะได้รับการจ่ายเงินเพิ่มเติม (On Top) ซึ่งจากการดำเนินงานมา 3 ปี พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 กลุ่มนี้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ในโรงพยาบาลชุมชน แต่ยังพบปัญหาการใช้ยาดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 40 ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังจัดระบบให้เภสัชกรทั้ง 13 เขต จัดอบรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และขับเคลื่อนร้านยาคุณภาพให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล

รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ ผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาใช้ยาต้านแบคทีเรียไม่สมเหตุผลนั้น การให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องสร้างความตระหนักด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลลูกเมื่อเจ็บป่วยมักพบว่า ยังมีการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมอยู่มาก โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มโรคดังกล่าว

ซึ่งการที่เด็กได้รับยาต้านแบคทีเรียมากเกินไปนั้น ส่งผลทำให้จุลินทรีย์ในร่างกาย ซึ่งถือเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้นเสียสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร จึงมีความเสี่ยงมากกับการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในเด็ก รวมถึงเกิดภาวะภูมิแพ้ หอบหืด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรดูแลเด็กตามอาการโดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือใช้สมุนไพรในบ้าน เป็นต้น

น.ส.พัชรา อุบลสวัสดิ์ ผอ.สำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาให้สำเร็จและยั่งยืน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุเรื่อง วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ให้เป็น 1 ใน 5 ระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาที่ใช้ในกรณีป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ใช้ไม่ได้กับอาการติดเชื้อชนิดอื่น เช่น เชื้อไวรัส สามารถใช้รักษาได้ตั้งแต่อาการค่อนข้างเบา เช่น ปวด ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ทั้งนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะทำให้เกิดการดื้อยา (Antibiotic resistance) ได้

แหล่งข้อมูล

1. ไทยตายจากเชื้อดื้อยาวันละ 100 ราย สูงกว่าทั่วโลก เตือนพ่อแม่เลี่ยงใช้ยาต้านแบคทีเรีย เหตุลูกเสี่ยงอ้วน-ภูมิแพ้. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000130243[2015, December 7].

2. Antibiotics. http://www.nhs.uk/conditions/Antibiotics-penicillins/Pages/Introduction.aspx [2015, December 7].

3. Antibiotics: How Do Antibiotics Work? http://www.medicalnewstoday.com/articles/10278.php [2015, December 7].