ดื่มเหล้าไม่ลดละ มะเร็งจะถามหา (ตอนที่ 1)

การพาดหัวข่าวระยะหลังผ่านสื่อต่างๆ อาจทำให้ผู้คนเข้าใจว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้ว มีหลักฐานเพิ่มขึ้นตลอดเวลาของภัยคุกคามจากเหล้าที่แอบแฝงอยู่ กล่าวคือการดื่มเหล้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ แม้ปริมาณจะไม่มาก ก็สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวที่จะเป็นโรคมะเร็งได้หลายชนิด

องค์ความรู้ที่เพิ่มเติมจากการวิจัยครั้งแล้วครั้งเล่า ล้วนเชื่อมโยงเหล้าไปยังโรคมะเร็งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งหลอดอาหาร โดยเฉพาะการศึกษาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่มปอดเข้าไปอยู่ในรายชื่ออวัยวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง แม้ในบรรดาผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

การศึกษาหลายครั้งแสดงผลว่าความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด (อาทิ ปอด กล่องเสียง และลำไส้ตรง) เกิดขึ้นเมื่อดื่มเหล้าจัดถึงวันละ 3 – 4 แก้ว (Drink) เป็นประจำ แต่แม้ดื่มเหล้าเพียงวันละแก้วเดียว ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งในช่องปากและมะเร็งหลอดอาหารได้เหมือนกัน

และความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม จะเริ่มต้นสูงขึ้นด้วยการดื่มเหล้าเพียง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การศึกษามากกว่า 100 ครั้งเกี่ยวกับสตรีในอังกฤษ ยืนยันความสัมพันธ์โดยตรงของการดื่มเหล้ากับโรคมะเร็งเต้านม ส่วนความเสี่ยงสำหรับโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ก็จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปตามปริมาณของเหล้าที่ดื่ม

การวิเคราะห์ผลการสำรวจโดยรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารโรคระบาดวิทยาของสหรัฐอเมริกา (American Journal of Epidemiology ) ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ สรุปโดยภาพรวมว่า ผู้ชายที่ดื่มเหล้า ตั้งแต่วันละ 3 แก้วขึ้นไป จะมีความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคมะเร็ง (ไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง) ที่เพิ่มขึ้น 41% ในขณะที่ผู้หญิงดื่มเหล้าตั้งแต่วันละ 2 แก้วขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคมะเร็ง (ไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง) ที่เพิ่มขึ้น 20%

ผู้อำนวยการสถาบันโรคระบาดวิทยา ณ โรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนครนิวยอร์คกล่าวว่า “สถานการณ์นี้คล้ายคลึงกับยาสูบเมื่อ 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” โดยการดื่มเหล้านั้นมีรากเหง้าที่ฝังลึกอยู่ในนิสัย สังคม และการส่งเสริมผ่านโฆษณาและภาพยนคร์

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบาดวิทยา [จากสถานบันดังกล่าว] กล่าวว่า ข้อมูลจากการวิจัยที่เชื่อมโยงเหล้ากับโรคมะเร็ง ได้มาจากการศึกษาโดยวิธีสังเกตและเฝ้าติดตาม ซึ่งแสดงค่าสหสัมพันธ์ [ในเชิงสถิติ] มิใช่ความสัมพันธ์ [ในเชิง] เหตุและผล แต่จำนวนครั้งของการศึกษาดังกล่าว ซึ่งย้อนหลังไปหลายทศวรรษ แสดงให้เห็นว่า การดื่มเหล้าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งของอวัยวะในส่วนศีรษะและลำคอ ลำไส้ใหญ่ และเต้านม

นักวิทยาศาสตร์กำลังเจาะลึกลงไปที่วิธีการหลากหลายที่เหล้าเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง ตั้งแต่ การเพิ่มระดับ Estrogen (ฮอร์โมนเพศหญิง) ไปถึงการกระตุ้นสารเคมีที่มีอันตรายในยาสูบ เพิ่มการทำลาย DNA (สารพันธุกรรม) และแทรกแซงการซ่อมแซม [DNA] ดังนั้นเมื่อทั้งดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ โอกาสเกิดโรคมะเร็งจึงยิ่งสูงขึ้นมาก

นักวิจัยได้ค้นพบยีน (จีน/Gene, ลักษณะทางพันธุกรรม) นานาพันธุ์ ที่ทำให้บางคนอ่อนไหวง่ายต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเหล้า ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็เร่งเร้าให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยขั้นปฐมภูมิ (Primary Care) เพิ่มความละเอียดลออในการสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับนิสัยการดื่มเหล้าและแจ้งให้เขารับรู้ว่า การดื่มเหล้าสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แม้ว่าเขาอาจไม่ได้ดื่มมากเกินไปจนเมา

แหล่งข้อมูล:

  1. Raising the Chance of Some Cancers With Two Drinks a Day. http://online.wsj.com/article/SB10001424052970204528204577009741133297800.html [2011, November 3].