ดีโนซูแมบ (Denosumab)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ดีโนซูแมบ (Denosumab) คือ ยาช่วยเพิ่มมวลกระดูก/เนื้อกระดูกให้มากขึ้น, ซึ่งโรคที่ใช้ยานี้รักษา เช่น โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis), ยานี้เป็นยาชีววัตถุ (Biotechnology drug, ยาซึ่งใช้เทคโนโลยีผลิตจากสิ่งมีชีวิต) ชนิด โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibody)/ยาที่เกิดจากการโคลน/โคลนนิง (Cloning, กระบวนการที่ทำให้เหมือนกันโดยที่ไม่ใช่จากการสืบพันธุ์) จากเซลล์ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์, มีบทบาทยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ชนิด พรี-ออสทีโอคลาสต์ (Pre-osteoclasts)ให้ไปเป็นเซลล์ชนิดออสทีโอคลาสต์ที่สมบูรณ์ (เซลล์ตัวแก่), ซึ่งส่งผลให้กระบวนการสลายกระดูกเกิดได้ช้าลง, จึงช่วยเพิ่มมวลกระดูก/เนื้อกระดูกให้มากขึ้น

กระดูก เป็นอวัยวะสำคัญมากอย่างหนึ่งของร่างกาย นอกจากเป็นโครงร่างค้ำจุนที่สำคัญของร่างกายแล้ว, กระดูกยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของร่างกาย, การสร้างเม็ดเลือด, และการเก็บสะสมแร่ธาตุ (เช่น แคลเซียม) อีกด้วย

กระบวนการก่อรูปของร่างกายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกอบไปด้วยการสร้างกระดูกใหม่โดยเซลล์ออสทีโอบลาสต์ (Osteoblasts), และการสลายกระดูกเก่าโดยเซลล์ออสทีโอคลาสต์ (Osteoclasts) เพื่อให้ได้กระดูกใหม่มาแทนที่

ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือ ผู้สูงอายุเพศชาย พบว่ามีอัตราการสลายกระดูกมากกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกมีลักษณะพรุน เปราะ หรือเกิดเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น ยานี้จึงช่วยเพิ่มมวลกระดูก/เนื้อกระดูกให้มากขึ้น

ปัจจุบัน ยาดีโนซูแมบ เป็นยาชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย ใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาดีโนซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาดีโนซูแมบ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคกระดูกพรุน
  • ป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากภาวะมะเร็งชนิดต่าง (เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก) แพร่กระจายสู่กระดูก (Bone Metastases from Solid Tumors) เช่น ภาวะกระดูกหัก
  • รักษาเนื้องอกกระดูกชนิด Giant Cell Tumor of Bone

ยาดีโนซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กระบวนการก่อรูปของกระดูกในร่างกาย มีเซลล์ที่สำคัญอยู่ 2 ชนิดคือ เซลล์ออสทีโอบลาสต์ (Osteoblasts) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างกระดูกใหม่, และเซลล์ออสทีโอคลาสต์ (Osteoclasts) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สลายกระดูกเดิม, ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะเกิดจากมีการสลายกระดูกมากกกว่าการสร้างกระดูกขึ้นใหม่

เซลล์ออสทีโอคลาสต์ พัฒนาขึ้นจากเซลล์พรี-ออสทีโอคลาสต์ (Pre-osteoclasts) ซึ่งบนผิวเซลล์พรี-ออสทีโอคลาสต์ มีตัวรับ (Receptor) ที่ใช้ช่วยให้มีการพัฒนาเซลล์นี้ไปเป็นเซลล์ออสทีโอคลาสต์, เรียกตัวรับนี้ว่า รีเซปเตอร์แอกทิเวเตอร์ออฟนิวเคลียร์แฟกเตอร์แคปปาบี (Receptor activator of nuclear factor-kappa B ย่อว่า RANK, ซึ่งตัวรับ RANK นี้จะได้รับการกระตุ้นโดยสาร รีเซปเตอร์แอกทิเวเตอร์ออฟนิวเคลียร์แฟกเตอร์แคปปาบีไลแกนด์ (Receptor activator of nuclear factor-kappa B Ligand; RANKL) ซึ่งเป็นสารโปรตีนบนผิวเซลล์ออสทีโอบลาสต์ เพื่อช่วยให้เซลล์พรี-ออสทีโอคลาสต์เจริญไปเป็นเซลล์ออสทีโอคลาสต์ที่สมบูรณ์ 

ยาดีโนซูแมบ ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของ RANKL จึงทำให้เซลล์พรี-ออสทีโอคลาสต์ไม่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์ออสทีโอคลาสต์ที่สมบูรณ์ได้ จึงส่งผลให้การสลายตัวของมวลกระดูกลดลง

ยาดีโนซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดีโนซูแมบ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์/รูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาชีวัตถุชนิดน้ำปราศจากเชื้อ สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous ย่อว่า SC) มี 2 รูปแบบ คือ

ก. ยาบรรจุในหลอดฉีดยาพร้อมฉีด (Prefilled-syringe for Injection), ขนาดความแรง 60 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์ (ชื่อการค้าโพรเลีย (Prolia)

ข. ยาน้ำปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Solution for Injection), ขนาดความแรง 120 มิลลิกรัมในบรรจุภัณฑ์ขนาด 1.7 มิลลิลิตร หรือ 70 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (70mg/mL) (ชื่อการค้าเอ็กซ์จีวา/ Xgeva)

ยาดีโนซูแมบมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาดีโนซูแมบมีขนาดยาแนะนำโดยทั่วไป เช่น

ก. ยาชื่อการค้าโพรเลีย (Prolia): ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน โดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 60 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 เดือน ระยะเวลารักษาทั้งหมดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. ยาชื่อการค้าเอ็กซ์จีวา (Xgeva):  

  • ใช้ป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆแพร่กระจายมายังกระดูก(Bone Metastases from Solid Tumors): โดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 120 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 สัปดาห์, ระยะเวลารักษาทั้งหมดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • รักษาเนื้องอกกระดูกชนิด Giant Cell Tumor of Bone: โดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 120 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 สัปดาห์ ในช่วงเดือนแรกของการรักษา แพทย์อาจฉีดเพิ่มในวันที่ 8 และ 15 ด้วยอีกครั้งละ 120 มิลลิกรัม, ระยะเวลารักษาทั้งหมดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ยาดีโนซูแมบ เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาน้ำปราศจากเชื้อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) โดยแพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้บริหารยา(ฉีดยา)ให้ผู้ป่วย บริเวณที่เหมาะสมแก่การบริหารยา ได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือบริเวณหน้าท้อง 

อนึ่ง: แพทย์อาจพิจารณาให้ ยาแคลเซียม (เช่น Calcium carbonate) และ/หรือวิตามินดี (Vitamin D) ชนิดรับประทานร่วมด้วยหลังได้รับยาดีโนซูแมบ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น   ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้   

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาดีโนซูแมบ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติ การแพ้ยา แพ้อาหาร และ/หรือ แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัด และยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่นยา บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab),  เอเวอโรไลมัส (Everolimus), พาโซพานิบ (Pazopanib), ,โซราฟินิบ (Sorafenib), ซูนิทินิบ (Sunitinib), อะซาไธโอพรีน (Azathioprine), ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), เมโธเทรกเซต (Methotrexate), ไซโรไลมัส (Sirolimus), ทาโครไลมัส (Tacrolimus), และยาในกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone), และเมธิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), เนื่องจากแพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยา ปรับขนาดยา หรืออาจต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาต่างๆเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยประสบภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcaemia)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติ โรคโลหิตจาง/โรคซีด หรือมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดไม่ปกติ โรคมะเร็ง   โรคติดเชื้อต่างๆ  รวมถึงการติดเชื้อในทุกส่วนของร่างกาย   ประวัติการผ่าตัดในช่องปาก   มีภาวะภูมิคุ้มกันฯร่างกายลดลงหรือไม่เป็นปกติ   มีประวัติการผ่าตัดที่ต่อมไทรอยด์ หรือที่ต่อมพาราไทรอยด์  ประวัติการผ่าตัดลำไส้เล็ก  หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมอาหาร   ประวัติโรคไทรอยด์ และ/หรือ โรคไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร, รวมถึงผู้ป่วยชายที่วางแผนที่จะมีบุตรด้วยเพราะยานี้อาจปนออกมาในน้ำอสุจิหรือในอสุจิได้

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากผู้ป่วยลืมเข้ารับการบริหารยา/การให้ยาดีโนซูแมบตามแพทย์นัดหมาย ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ตนเองกำลังทำการรักษาอยู่โดยทันที ซึ่งเมื่อได้รับการบริหารยาแล้ว โดยทั่วไป แพทย์จะนัดหมายหลังจากการให้ยาครั้งล่าสุดไปแล้ว 6 เดือน

ยาดีโนซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดีโนซูแมบ อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น

  • เกิดผื่นแดง, ผื่นพอง, และ/หรือ มีการลอกทีผิวหนัง
  • ปวดแขน, ปวดกล้ามเนื้อ, และ/หรือ ปวดข้อ  
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • ปวดหัว  
  • เจ็บคอ/คออักเสบ

*ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ/หรือไม่ทุเลาลง และ/หรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

****นอกจากนี้ ยาดีโนซูแมบ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น มึนงง  วิงเวียน  เป็นลม  การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป หรือตาพร่า/ตามัว เป็นไข้ หนาวสั้น  อ่อนล้า  อ่อนเพลีย  อย่างรุนแรง  ปวด บวม แดง บริเวณผิวหนัง ปวดหูอย่างรุนแรง หรือมีสารคัดหลั่งไหลอกจากหู  ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะไม่สุด หรือ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ  ปวด บวม หรือชาบริเวณช่องปาก ฟัน และกราม ปวดในช่องท้องอย่างรุนแรง หรือหัวใจเต้นเร็ว,  รวมไปถึงอาการแพ้ยานี้  เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปากหรือเปลือกตา/หนังตาบวม  หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก  ***หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน***

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน (ไม่ต้องรอถึงวันนัด)หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีโนซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีโนซูแมบ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ปลอกเข็มฉีดยาของยานี้ทำมาจากยางธรรมชาติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาง
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร และไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยชายที่วางแผนที่จะมีบุตร ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถมีบุตรได้ภายหลังสิ้นสุดการได้รับยานี้ครั้งสุดท้ายไปแล้วอย่างน้อย 5 เดือน
  • ผู้ป่วยควรได้รับยาแคลเซียม และยาวิตามินดีอย่างเพียงพอระหว่างการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับแคลเซียมและวิตามินดีในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ในระหว่างการรักษา
  • ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดกระดูกตายในส่วนของกระดูกกราม (Osteonecrosis of Jaw; ONJ), แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง หรือมีภาวะอื่นๆ เช่น โรคซีด   หรือมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy) ผู้สูบบุหรี่ หรือกำลังได้รับยาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ยาเสตียรอยด์ชนิดฉีดหรือชนิดรับประทาน  ยาเคมีบำบัด  ผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาโดยวิธีรังสีรักษาในบริเวณศีรษะและคอ  ผู้ที่มีปัญหาในช่องปาก,  ได้รับการตรวจประเมินจากทันตแพทย์ก่อนเริ่มต้นการใช้ยานี้,   *อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณช่องปากและกรามระหว่างการใช้ยานี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบโดยทันที
  • ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต, ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง, หรืออยู่ในระหว่างการฟอกไต/การล้างไต,  เพราะอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcaemia) มากกว่าบุคคลทั่วไป
  • ก่อนการบริหารยานี้ ควรตรวจสอบหลอดบรรจุยาว่ามีสิ่งแปลกปลอม, ยามีลักษณะขุ่น, หรือมีสีเปลี่ยนไปหรือไม่, ถ้ามีไม่ควรใช้ยานั้น
  • ไม่ควรเขย่ายานี้ก่อนการบริหารยานี้, และควรนำยานี้ออกจากตู้เย็น รอให้ยาเย็นตัวลงก่อนฉีดยา เพื่อลดอาการระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยานี้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดีโนซูแมบ)  ยาแผนโบราญทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดีโนซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

จากการศึกษาต่างๆ ยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาของยาดีโนซูแมบกับยาอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

*อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัด และ/หรือยาที่มีฤทธิ์ในกดภูมิคุ้มกันฯร่างกาย เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab), เอเวอโรไลมัส (Everolimus), พาโซพานิบ (Pazopanib), โซราฟินิบ (Sorafenib), ซูนิทินิบ (Sunitinib), อะซาไธโอพรีน (Azathioprine),  ไซโคลสปอริน (Cyclosporin),  เมโธเทรกเซต (Methotrexate), ไซโรไลมัส (Sirolimus),  ทาโครไลมัส (Tacrolimus), และยาในกลุ่มเสตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีด เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone), และ/หรือ ยาเมธิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), *ควรแจ้งให้แพทย์/เภสัชกรทราบ เนื่องจากยาดีโนซูแมบอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาเหล่านี้ได้ แพทย์จึงอาจต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษายาดีโนซูแมบอย่างไร?

ทั่วไป ควรเก็บยาดีโนซูแมบ: เช่น

  • เก็บยาในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นจากที่ที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง

อนึ่ง: สถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจมีนโยบายการเก็บรักษายาของสถานพยาบาล, ควรสอบถามเพิ่มเติมถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้จากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลนั้นๆ

ยาดีโนซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีโนซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า ชื่อบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย
โพรเลีย (Prolia) บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Denosumab, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:581-3.
  2. McClung, Michael R.; Lewiecki, E. Michael; Cohen, Stanley B.; Bolognese, Michael A.; Woodson, Grattan C.; Moffett, Alfred H.; Peacock, Munro; Miller, Paul D.; et al. Denosumab in Postmenopausal Women with Low Bone Mineral Density". New England Journal of Medicine. 20006; 354 (8): 821–31.
  3. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=B&rctype=1C&rcno=6200003&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2023,April15]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/23127 [2023,April15]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/24755 [2023,April15]
  6. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/treatment/drugs/denosumab [2023,April15]
  7. https://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx [2023,April15]