ดีเฟอริโพรน (Deferiprone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาขับเหล็ก(Iron chelator)ชนิดรับประทานที่ชื่อ ยาดีเฟอริโพรน (Deferiprone) ถูกเริ่มนำมาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยถูกจัดเป็นยาขับเหล็กลำดับสอง (Second line drug)ที่พิจารณาใช้ในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ที่ให้ยาขับเหล็กชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำเดสเฟอรอกซ์ซามีน (Desferrioxamine)แล้วไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการฉีดยาเดสเฟอรอกซ์ซามีนเพื่อรักษาภาวะธาตุเหล็ก/เหล็กคั่งในเลือด(Haemosiderosis)

ทั้งนี้ ผล/อาการไม่พึงประสงค์ของยา ดีเฟอริโพรนที่ควรติดตามใกล้ชิด คือ การเกิดภาวะปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง (Agranulocytosis) เพราะภาวะดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงของร่างกายต่อการเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และมักจะเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ จึงควรได้รับการติดตามการตรวจเลือดเพื่อดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC)ตามแพทย์สั่งตั้งแต่ก่อนการเริ่มใช้ยาดีเฟอริโพรน และติดตามทุกสัปดาห์ภายหลังเริ่มใช้ยานี้ หากผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาหยุดยาดีเฟอริโพรนทันที และให้การรักษาผู้ป่วยทันทีในโรงพยาบาล อีกทั้งแพทย์ยังจะระมัดระวังการให้ยาชนิดอื่นๆที่มีผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยาดีเฟอริโพรนอยู่ เนื่องจาก อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรงได้สูงมากยิ่งขึ้นอีก เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน

ยาดีเฟอริโพรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดีเฟอริโพรน

ยาดีเฟอริโพรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ สำหรับการจับธาตุเหล็ก(Iron chelator) ในเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กคั่งในเลือด (Haemosiderosis) ที่เกิดจากการได้รับเลือดบ่อยครั้งในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดจางจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ(Hemolytic anemia)

ยาดีเฟอริโพรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดีเฟอริโพรนเป็นยาขับเหล็กออกจากร่างกาย ที่ยาดีเฟอริโพรนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วจากบริเวณระบบทางเดินอาหารส่วนบน(กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก)แล้ว เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ยานี้จะออกฤทธิ์สูงสุดที่ 1 ชั่วโมงภายหลังรับประทานยานี้ขณะที่ท้องว่าง และยานี้จะออกฤทธิ์สูงสุดที่ 2 ชั่วโมงกรณีรับประทานยาพร้อมอาหาร โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ตัวยาจะเข้าจับกับธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือดที่อยู่รูปของ เฟอริก (Ferric, Fe3+) ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 หมายถึง 3 โมเลกุลของดีเฟอริโพรนจะจับกับ 1 โมเลกุลของเฟอริก จากนั้นจะได้เป็นสารประกอบที่เป็นกลาง ที่ถูกขับออกทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว จึงไม่ทำให้เกิดภาวะเหล็กสะสมในเลือด/ในร่างกาย ทั้งนี้ ยาดีเฟอริโพรนยังสามารถขับเหล็กออกจากสารโปรตีนชนิดต่างๆที่เป็นแหล่งสะสมของเหล็กในร่างกายได้ เช่นสาร เฟอริติน (Ferritin) ฮีโมซิเดอริน (Haemosiderin) ทรานสเฟอริน (Transferrin) และ แลกโตเฟอริน (Lactoferrin) แต่ไม่สามารถขับเหล็กออกจากฮีโมลโกลบิน(Haemoglobin)ของเม็ดเลือดแดงได้

ยาดีเฟอริโพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาดีเฟอริโพรนที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) ขนาดยาดีเฟอริโพรน 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาดดีเฟอริโพรน 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด และ
  • รูปแบบสารละลายน้ำสำหรับรับประทาน ขนาดยา 100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร บรรจุในขวดขนาด 500 มิลลิลิตร

ยาดีเฟอริโพรนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาดีเฟอริโพรนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

1. ขนาดยาดีเฟอริโพรนที่แนะนำสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ คือ เริ่มต้นยาดีเฟอริโพรน 75 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นแบ่งรับประทานวันละ 2 – 4 ครั้งต่อวัน โดยสามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งช่วงท้องว่าง หรือ หลังรับประ ทานอาหาร เพราะอาหารไม่มีผลต่อปริมาณยาดีเฟอริโพรนที่ร่างกายดูดซึม ทั้งนี้ขนาดยาดีเฟอริโพรน แพทย์สามารถปรับขนาดยานี้ตามปริมาณเหล็กในร่างกาย โดยแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณา ขนาดยาสูงสุด คือ ยาดีเฟอริโพรน 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นแบ่งรับประทานวันละ 2 – 4 ครั้งต่อวัน

2. ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่แน่ชัด

3. การใช้ยาดีเฟอริโพรนในผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา ดังนั้นแพทย์จึงพิจารณาใช้ยานี้ในขนาดปกติ

4 การใช้ยาดีเฟอริโพรนในผู้ป่วยที่ตับทำงานผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา ดังนั้นแพทย์จึงพิจารณาใช้ยานี้ในขนาดปกติ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาดีเฟอริโพรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาบางชนิด/ยาดีเฟอริโพรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อนแล้ว
  • ประวัติการใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, วิตามินต่างๆ เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือวิตามินบางชนิด อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพยาดีเฟอริโพรน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาต่างๆรวมยาดีเฟอริโพรน อาจส่งผ่านสู่ทารกจนทารกเกิดผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้นได้

หากลืมรับประทานยาดีเฟอริโพรนควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาดีเฟอริโพรนที่มีวิธีการรับประทานยา คือ รับประทานยาวันละ 2 – 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับคำสั่งที่แพทย์กำหนด

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาดีเฟอริโพรน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อยาที่ต้องรับประทาน) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป แล้วรอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 3 ครั้ง เวลา 8.00 น.,13.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า ครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 11.30 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไป คือ เวลา 13.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาดีเฟอริโพรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาดีเฟอริโพรนที่พบได้บ่อยและรุนแรง คือ เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง (Neutropenia หรือ Agranulocytosis)ที่ทำให้ร่างกายเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง คือ ปัสสาวะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดงขณะกำลังได้รับยานี้ และ

อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น/หิวบ่อย ปวดข้อ และข้อบวม ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น อาการมึนงง ปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีเฟอริโพรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีเฟอริโพรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
  • การใช้ยานี้ในช่วงกำลังตั้งครรภ์/ให้นมบุตร: พบว่า การได้รับยาดีเฟอริโพรนระหว่างการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ อาจมีผลทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์เกิดความพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงที่ตั้งใจจะตั้งครรภ์/หญิงตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาก่อนใช้ยานี้ และจากการศึกษาคาดว่ายาดีเฟอริโพรนสามารถขับออกทางน้ำนมได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของบุตร ควรหยุดการใช้ยานี้ในช่วงกำลังให้นมบุตร หรืองดให้นมบุตรกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับยานี้
  • ยานี้มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง คือ ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง (Agranulocytosis) ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และมักเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้จากภาวะนี้ ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการติดตามค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC)ตามแพทย์สั่ง ก่อนการเริ่มใช้ยาดีเฟอริโพรน และติดตามการตรวจเลือดดังกล่าวทุกสัปดาห์ภายหลังเริ่มใช้ยานี้

กรณี เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาหยุดยาดีเฟอริโพรนทันที และให้การรักษาทันทีในโรงพยาบาล อีกทั้งแพทย์จะระมัดระวังการให้ยาชนิดอื่นๆที่มีผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยาดีเฟอริโพรนอยู่ เนื่องจาก อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรงได้สูง เช่น ยากันชัก

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดีเฟอริโพรน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดีเฟอริโพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดีเฟอริโพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. ยังไม่มีรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยาดีเฟอริโพรนกับยาอื่นๆ

2. การให้ยาดีเฟอริโพรนคู่กับยาที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุที่มีประจุไฟฟ้า เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Antacid, ในกลุ่มที่ประกอบด้วยธาตุ อะลูมิเนียม/ Aluminium เช่นยา Aluminium hydroxide , แมกนีเซียม/ Magnesium เช่นยา Magnesium hydroxide , แคลเซียม/ Calcium เช่นยา Calcium carbonate), และซิงค์(Zince, เช่นยา Zince sulfate) จะมีผลทำให้การดูดซึมยาดีเฟอริโพรนเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุดังกล่าวห่างจากการรับประทานยาดีเฟอริโพรนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ควรเก็บรักษายาดีเฟอริโพรนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาดีเฟอริโพรนทั้งรูปแบบ เม็ด แคปซูล และสารละลายสำหรับรับประทาน ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และแสงสว่าง ที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง(มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเพื่อความปลอดภัย ควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาดีเฟอริโพรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีเฟอริโพรนในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
GPO-L-One องค์การเภสัชกรรม (GPO)
Ferriprox oral solution Apotex
KelferCipla

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2015-16.
  2. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
  3. Product Information: GPO-L-1, GPO, Thailand.
  4. วิปร วิประกษิต. แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาดีเฟอริโพรน. กรุงเทพฯ. 2552