ดีลามานิด (Delamanid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดีลามานิด(Delamanid) เป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อบำบัดรักษาวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะรุ่นเดิม(Multidrug-resistant tuberculosis) อย่างเช่น Isoniazid และ Rifampicin ในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557)ยานี้มีการขึ้นทะเบียนและรับรองการใช้ทางคลินิกที่ประเทศแถบยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยาดีลามานิดถูกจัดให้เป็นยาใหม่ที่ใช้รักษาวัณโรคในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Deltyba” ยานี้มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างกรดบางชนิดในเชื้อวัณโรคที่มีชื่อเรียกว่า Methoxy-mycolic acid และ Keto-mycolic acid ซึ่งกรดทั้ง 2 ชนิดเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อวะรโรค ส่งผลให้เชื้อวัณโรคไม่สามารถเจริญพันธุ์และตายลงในที่สุด

ยาดีลามานิดมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99.5% และจะถูกโปรตีนในเลือดเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี แต่ก็มียานี้บางส่วนที่ถูกทำลายโดยเอนไซม์ในตับที่เรียกว่า CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 30–38 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งออกจากกระแสเลือดผ่านทางอุจจาระ

จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า ยาดีลามานิดสามารถบำบัดอาการผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคดื้อยา(Multidrug-resistant tuberculosis) ให้มีอาการดีขึ้น โดยทั่วไป การรักษาวัณโรคดื้อยาด้วยยาดีลามานิด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นร่วมในการรักษาด้วยตามความเหมาะสมในแต่กรณีผู้ป่วย และสำหรับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ที่ไม่อยู่ในระดับรุนแรง สามารถใช้ยาดีลามานิดได้ตามปกติโดยไม่ต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาดีลามานิด ที่พบเห็นได้บ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน และวิงเวียนศีรษะ อาการข้างเคียงที่ดูเหมือนจะรุนแรง ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงต่างๆ แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะสารโปรตีนในเลือดต่ำ (Low level of albumin) นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้างเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาทุกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้ที่มีภาวะพร่อง/ขาด เกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น

ปัจจุบันมีการยืนยันทางคลินิกว่า ผู้ป่วยวัณโรคที่ใช้ยาดีลามานิด 2 เดือนต่อเนื่องขึ้นไป อาการโรคจะทุเลาและดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังต้องใช้ยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์

*สำหรับผู้ที่รับประทานยาดีลามานิดเกินขนาด อาจเกิดอาการของหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยจะต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อทำการล้างท้องและช่วยเหลือให้หัวใจกลับมาทำงานอย่างเป็นปกติ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุและรับรองให้ยาดีลามานิดเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย และในปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) องค์กรที่เป็นพันธมิตรเพื่อหยุดยั้งวัณโรคได้มีข้อตกลงจัดหางบประมาณมาบริหารการกระจายยานี้เพื่อรักษาวัณโรคมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอาจยังไม่พบเห็นการใช้ยาดีลามานิดก็จริง แต่ในอนาคตผู้ป่วยวัณโรคภายในประเทศก็มีโอกาสที่จะได้ใช้ยาชนิดนี้เช่นกัน

ดีลามานิดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดีลามานิด

ยาดีลามานิดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการวัณโรคปอดที่เชื้อโรคมีการพัฒนาตัวเองให้ดื้อต่อยารักษาวัณโรครุ่นดั้งเดิม

ดีลามานิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีลามานิดคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อวัณโรค ส่งผลให้หมดสภาพในการเจริญเติบโต จนหยุดกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

ดีลามานิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดีลามานิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Delamanid ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ดีลามานิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดีลามานิดมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังอาหาร
  • ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีองค์ประกอบของแอลกอฮอล์ด้วยจะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงขึ้นมาก
  • ทางคลินิก แพทย์แนะนำการรักษาด้วยดีลามานิดติดต่อกัน 24 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ควรตรวจสอบการทำงานของหัวใจร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์ เพื่อหากพบความผิดปกติ แพทย์จะได้รีบดำเนินการแก้ไขทันที

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดีลามานิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาดีลามานิดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาดีลามานิดในระหว่างวัน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติ ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

กรณีหยุดรับประทานยานี้หลายวันติดต่อกัน ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็วเพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา

อนึ่ง การรักษาวัณโรคต้องอาศัยการรับประทานยาดีลามานิดอย่างต่อเนื่อง การหยุดรับประทานยานี้เอง จะส่งผลให้อาการโรคกำเริบ และยังเป็นการกระตุ้นให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้สูงขึ้น

ดีลามานิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดีลามานิดสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง เกิดภาวะEosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ไอ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ ตัวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ใบหน้าแดง ค่าECGผิดปกติ เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีสิว เหงื่ออกมาก ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กรดยูริคในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียม/เกลือ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ง่วงซึม กระสับกระส่าย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาแห้ง ตากลัวแสง
  • ผลต่อการได้ยิน: เช่น หูอื้อ ปวดหู
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ

อนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรง ระหว่างการรักษาด้วยยานี้ แพทย์อาจนัดมาทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG หรือ ECG)เป็นระยะๆ ผู้ป่วยควรมารับการตรวจตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

มีข้อควรระวังการใช้ดีลามานิดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีลามานิด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีการติดเชื้อวัณโรคแบบแอบแฝง(Latent infection with M. tuberculosis)
  • ห้ามใช้ยานี้กับการติดเชื้อวัณโรคประเภทเกิดนอกปอดเช่น วัณโรคที่กระดูก วัณโรคที่เส้นประสาท ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมายืนยันประสิทธิผลของการรักษา
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำกว่า 2 กรัม/เดซิลิตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีหรือกลิ่นยาเปลี่ยน
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • เฝ้าระวังการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติเสมอตามแพทย์แนะนำ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดีลามานิดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดีลามานิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดีลามานิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาดีลามานิดร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ที่เรียกกันว่า Prolonged QT interval กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานั้นๆร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีๆไป รวมถึงดูแลควบคุมการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติเสมอ ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Amiodarone, Disopyramide, Procainamide, Quinidine, Sotalol, กลุ่มTCAs, Thioridazine, Haloperidol, Chlorpromazine, Trifluoperazine/ยารักษาทางจิตเวช, Prochlorperazine, Fluphenazine/ยารักษาทางจิตเวช, Sertindole/ยารักษาทางจิตเวช, Pimozide, Domperidone, Fluconazole, Itraconazole, Posaconazole, Voriconazole, และกลุ่มMacrolides

ควรเก็บรักษาดีลามานิดอย่างไร?

ควรเก็บยาดีลามานิดภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุซึ่งอายุของยาก่อนเปิดบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 5 ปี

ดีลามานิดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีลามานิด มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Deltyba (เดลไทบา)Otsuka

บรรณานุกรม

  1. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Summary_for_the_public/human/002552/WC500166235.pdf[2017,March11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Delamanid[2017,March11]
  3. http://www.mims.com/hongkong/drug/info/deltyba/?type=brief[2017,March11]
  4. https://www.drugs.com/international/delamanid.html[2017,March11]
  5. http://www.treatmentactiongroup.org/sites/default/files/201409/Activist's%20Guide%20to%20Delamanid%20V6%20LR.pdf[2017,March11]
  6. https://ec.europa.eu/health/documents/community-register/2016/20160311134183/anx_134183_en.pdf [2017,March11]