ดิสโซสิเอทีฟ (Dissociative)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดิสโซสิเอทีฟ (Dissociatives หรือ Dissociative drug) เป็นสาร/ยาหลอนประสาท/สารที่ทำให้เกิดประสาทหลอน(Hallucinogen)ซึ่งทำให้เกิดอาการบิดเบือนการรับรู้ ได้แก่ การเห็นภาพแปลกๆ หรือได้ยินเสียงแว่ว ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกแยกออกจากโลกของความเป็นจริงและอาจทำให้กลายเป็นคนหลายบุคลิก ส่งผลทำให้การควบคุมสติสัมปชัญญะด้อยลง สารหลอนประสาทชนิดนี้มักจะก่อให้เกิด อาการซึมเศร้า มึนงง เพราะเกิดฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจ/ หายใจลำบาก ทำให้มีอาการชา และไม่รับรู้อาการเจ็บปวด การทรงตัวทำได้ไม่ดี ลดระดับความรู้ความเข้าใจของสมอง และอาจเกิดความจำเสื่อม ร่วมกับมีภาวะสูญเสียความเป็นตัวเองเกิดขึ้น

ตัวอย่างของสารหลอนประสาทประเภทดิสโซสิเอทีฟ ได้แก่

1. N-methyl-D-aspartate receptor antagonist (NMDA receptor antagonist)จัดเป็นกลุ่มของยาสลบ ยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ยาแก้ไอ เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับ(Receptor)ชื่อ NMDA receptor ที่มีอยู่ในเซลล์ประสาทของสมองเป็นเหตุให้กระบวนการรับรู้ของสมองผิดปกติ การได้รับยานี้เป็นปริมาณที่เหมาะสมย่อมส่งผลในเชิงการรักษาโรคได้เป็นอย่างดี แต่หากได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาด อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะประสาทหลอนแบบดิสโซสิเอทีฟตามมา

ตัวอย่างยาในกลุ่ม NMDA receptor antagonist ได้แก่ Ketamine , Phencyclidine, Dextromethorphan, Methoxetamine, และ Nitrous oxide

2. K-opioid receptor agonist เป็นกลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์กับตัวรับ(Recepror)ที่มีชื่อเรียกว่า แคปปา-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์(Kappa/ K-opioid receptor)ส่งผลให้เซลล์ประสาทแปลคำสั่งหรือความรู้สึกให้ลดอาการเจ็บ/ปวด การใช้ยากลุ่มนี้โดยไม่เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ อาจทำให้เกิดภาวะหลอนประสาทและเสพติดได้

3. GABAergic เป็นกลุ่มสารประกอบหรือกลุ่มยาที่มีผลต่อการกระตุ้นหรือยับยั้งการปลดปล่อยสาร GABA ในสมอง นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนก GABAergic ออกเป็น 3 หมวด คือ GABA receptor agonist , GABA receptor antagonist, และ GABA reuptake Inhibitor ซึ่งมีรายงานทางคลินิกพบว่า การได้รับยากลุ่ม GABA reuptake inhibitor เกินขนาด จะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆรวมถึงมีภาวะประสาทหลอนรุนแรงเกิดขึ้น

ตามกฎหมายของไทยได้จัดให้กลุ่มยาดิสโซสิเอทีฟ เป็นประเภทยาอันตรายหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือยาเสพติด ยากลุ่มนี้หลายรายการสามารถพบเห็นการวางจำหน่ายตามร้านขายยาและมีใช้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน แต่การได้รับยาเหล่านี้เป็นปริมาณมาก สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอนประสาท/ประสาทหลอนในลักษณะดิสโซสิเอทีฟดังได้กล่าวในตอนต้น(ในบทนำ)ได้อย่างรุนแรงจึงควรต้องใช้ยากลุ่มนี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ดิสโซสิเอทีฟแสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?

ดิสโซสิเอทีฟ

กลุ่มยาดิสโซสิเอทีฟ สามารถกระตุ้นให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อสมองได้คล้ายและแตกต่างกันตามโครงสร้างเคมีและขนาดยาต่างๆที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. Ketamine: ทางคลินิกใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด ด้วยมีฤทธิ์ในการสงบประสาท และยังมีฤทธิ์ระงับปวด ผลข้างเคียงด้านการหลอนประสาทจะทำให้รู้สึกว่าจิตวิญญาณของตนเองแยกออกนอกร่างกาย

2. Dextromethorphan: ใช้รักษาอาการไอ โดยเฉพาะการไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ การได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้รู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในสถานที่ที่ดูแตกต่างไปจากสถานที่ปัจจุบัน เช่น ตกนรก หรือไปอยู่ในที่ราบสูง หรือเห็นภาพหลอนต่างๆ

3. Phencyclidine: มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชา เคยใช้ในกระบวนการวางยาสลบ แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกการใช้ทางคลินิกแล้ว ด้วยมีผลข้างเคียงที่รุนแรงที่ทำให้เกิดประสาทหลอนในลักษณะได้ยินเสียแว่ว เห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริงในขณะนั้น ได้สัมผัสถึงมโนภาพที่ถูกสร้างขึ้นในสมองของตนเอง หรือรู้สึกว่าตนเองถูกแยกออกมาอยู่ในสถานที่ใหม่

4. Nitrous oxide หรือ แก๊สหัวเราะ: ใช้เป็นยาชา ลดอาการปวดในคลินิกทันตกรรม การได้รับ Nitrous oxideมากไป อาจทำให้เกิดการเห็นภาพสตรีหรือบุรุษที่มีลักษณะเย้ายวนใจ หรือได้ยินเสียงพูดซึ่งในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง

กลไกการออกฤทธิ์ของดิสโซสิเอทีฟเป็นอย่างไร?

ยาดิสโซสิเอทีฟในกลุ่มยา NMDA receptor antagonist, K-opioid receptor agonist และ GABA reuptake inhibitor มักจะมีการออกฤทธิ์ต่อต้านหรือรบกวนการส่งสัญญาณประสาท/กระแสประสาท จากกลไกดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้การประมวลผลการรับรู้ของสมองผิดเพี้ยนไป จึงทำให้มีภาวะประสาทหลอนในลักษณะการเห็นภาพที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือได้ยินเสียงแว่ว หรือรู้สึกว่าตนเองหลุดเข้ามาอยู่ในสถานที่ใหม่ที่มิได้มีอยู่จริง กรณีที่ยาหมดฤทธิ์ อาการหลอนประสาทอาจจะหายเป็นปกติหรือไม่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ของการได้รับยาประเภทดิสโซสิเอทีฟนั้นๆที่รวมถึงว่า ส่วนต่างๆของสมองได้รับความเสียหายเพียงใด หากเกิดความเสียหายของสมองขณะได้รับยาในกลุ่มนี้เกินขนาด ก็อาจทำให้เกิดภาวะประสาทหลอนได้อย่างคงทนถาวร

ประโยชน์ของดิสโซสิเอทีฟมีอะไรบ้าง?

ดิสโซสิเอทีฟเป็นกลุ่มยาที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิกมากมาย อาทิ ใช้เป็น ยาแก้ปวด ยาชา ยาแก้ไอ ยาบรรเทาอาการหอบหืด อย่างไรก็ตามยา ดิสโซสิเอทีฟมักถูกลักลอบนำมาใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง หรือตั้งใจใช้เพื่อ ให้เกิดอาการหลอนประสาทในพิธีกรรม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดิสโซสิเอทีฟอย่างผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะมีผลต่อสภาพจิตอารมณ์ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใดเลย

บทสรุปของยาดิสโซสิเอทีฟ

ยาในกลุ่มดิสโซสิเอทีฟเป็นกลุ่มยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการหลอนประสาท/ประสาทหลอน ในลักษณะที่ทำให้เกิดการบิดเบือนของการรับรู้ มีการเห็นภาพหลอนหรือการได้ยินเสียงที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกแยกออกจากโลกของความเป็นจริง ร่วมกับได้ยินเสียงแว่วต่างๆ สามารถพบเห็นสารหลอนประสาทดิสโซสิเอทีฟในรูปแบบการใช้ในลักษณะของ ยาแก้ปวด ยาแก้ไอต่างๆ ยาบางตัวประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ยาบางตัวถูกนำมาใช้ในลักษณะของยากระตุ้นความบันเทิงซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ทางคลินิกที่สุ่มเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เคยมีหลายกรณีที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและบางกรณีถึงกับทำให้ผู้ที่ได้รับยาดิสโซสิเอทีฟเสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากการเสพยา กลุ่มนี้เกินขนาด หรือผลจากอุบัติเหตุที่เกิดจากภาพหลอนต่างๆ การใช้ยาประเภทนี้ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://www.psychiatry.org/patients-families/dissociative-disorders/what-are-dissociative-disorders [2018,Feb10]
  2. https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/hallucinogens [2018,Feb10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/NMDA_receptor_antagonist#Mechanism_of_action [2018,Feb10]
  4. http://www.tripproject.ca/trip/?q=node/14 [2018,Feb10]
  5. http://www.bluelight.org/vb/threads/634908-DXM-hallucinations-amp-schizophrenia [2018,Feb10]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Phencyclidine#Addiction [2018,Feb10]
  7. https://www.drugs.com/phencyclidine.html [2018,Feb10]
  8. https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/nmda-receptor [2018,Feb10]
  9. https://health.kapook.com/view175785.html [2018,Feb10]