ดารดาษด้วยเชื้อโรค (ตอนที่ 1)

ดารดาษด้วยเชื้อโรค-1

      

      เชื้อโรค (Germs) เป็นคำเรียกกว้างๆ ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สามารถทำให้มนุษย์เราเป็นโรคกันได้ เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จนกว่าเราจะป่วยหรือไม่สบาย เราต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ส่องจึงจะมองเห็นตัวเชื้อโรค

เราอาจแบ่งเชื้อโรคออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria)

2. เชื้อไวรัส (Viruses)

3. เชื้อรา (Fungi)

4. โปรโตซัว (Protozoa)

      แบคทีเรีย (Bacteria) – เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์ มีขนาดเล็กโดยประมาณว่าดิน 1 กรัม จะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 40 ล้านตัว หรือ น้ำเปล่า 1 มิลลิลิตร จะมีแบคทีเรียอยู่ประมาณ 1 ล้านตัว แบคทีเรียสามารถแบ่งตัวได้ทั้งในและนอกร่างกายมนุษย์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

เราสามารถแบ่งชนิดของแบคทีเรียได้ตามลักษณะของรูปร่าง โดยหลักๆ จะมี 3 ลักษณะ คือ

1. ทรงกลม (Spherical) ซึ่งมักจะมีชื่อลงท้ายด้วย “coccus” เช่น สเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บคอ

2. เป็นแท่ง (Rod-shaped) ซึ่งมักจะมีชื่อลงท้ายด้วย “Bacillus” เช่น เชื้อ Bacillus anthracis (B. anthracis) ที่ทำให้เกิดโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) อย่างไรก็ดีบางชนิดอาจจะเป็นแท่งโค้งที่เรียกว่า Vibrio

3. เป็นเกลียว (Spiral) หรือที่เรียกว่า Spirillus และหากเป็นขดมากจะเรียกว่า Spirochetes ตัวอย่างของโรคที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดนี้ ได้แก่ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) โรคไลม์ (Lyme disease) และ ซิฟิลิสSyphilis

      เราสามารถพบแบคทีเรียได้ในดิน น้ำ พืช สัตว์ กากกัมมันตรังสี (Radioactive waste) ธารน้ำแข็ง (Glaciers) น้ำพุร้อน นอกจากนี้ เรายังสามารถพบแบคทีเรียได้ที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งชั้นนี้มีระดับความสูงจากพื้นโลกขึ้นไปตั้งแต่ 6-30 ไมล์ และสามารถพบแบคทีเรียอยู่ในทะเลน้ำลึกถึง 10,000 เมตร

หากแยกแบคทีเรียตามสภาพที่อยู่จะแบ่งได้ดังนี้

- Aerobes / aerobic bacteria - เป็นแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีวิต บางชนิดก่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดการกัดกร่อน (Corrosion) การเกิดตะกรัน (Fouling) และทำให้เกิดกลิ่นเหม็น

แหล่งข้อมูล:

  1. What Are Germs? http://kidshealth.org/en/kids/germs.html# [2018, February 13].
  2. What are bacteria and what do they do? https://www.medicalnewstoday.com/articles/157973.php [2018, February 13].